วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2558 เวลา 16.00 น. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. Mr. Olivier Lermet Regional Advisor (ผู้แทน UNODC) นางกาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายสุทัศน์ ปลื้มปัญญา หัวหน้าฝ่ายพัฒนามูลนิธิโครงการหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวการประชุมนานาชาติ “ICAD 2” ว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-24 พฤศจิกายน 2558 ณ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 250 คนทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในด้านการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา ในปี 2558 และเพื่อแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านผ่านโครงการพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยและชาวโลกตาม “ศาสตร์ของพระราชา”
ปัญหาความยากจนและการขาดโอกาสเป็นสาเหตุหลักของปัญหายาเสพติดรวมไปถึงปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ การพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) เป็นการแก้ปัญหายาเสพติดโดยแนะนำทางเลือกอื่นเพื่อการประกอบอาชีพที่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดคือ การปลูกฝิ่น ในขณะเดียวกัน การพัฒนาทางเลือกจึงเป็นมิติของการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ยังต้องพึ่งพาการปลูกฝิ่น ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทางเลือกไม่ได้มองเรื่องการปลูกพืชทดแทนเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ผนวกกิจกรรมการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค การสร้างรายได้ การยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จากประสบการณ์ที่ประเทศไทยได้นำแนวพระราชดำริในเรื่องการพัฒนาทางเลือกมาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา และชุมชนบนพื้นที่สูงมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงเห็นสมควรเผยแพร่ความเชี่ยวชาญและความสำเร็จของไทยด้านการพัฒนาทางเลือกให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลก ดังนั้น ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ประเทศไทยร่วมกับประเทศเปรูและสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ร่วมกันจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ICAD 1 โดยมีการจัดศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมศึกษาดูงานจำนวน 152 คน จาก 28 ประเทศทั่วโลก ผลที่ได้รับจากการจัดงานในครั้งนั้น คือ ร่างแนวทางปฏิบัติสากลว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (International Guiding Principles on Alternative Development - IGPs on AD ) ซึ่งร่างแนวปฏิบัตินี้ ได้นำเสนอเข้าที่ประชุมในช่วงที่สองซึ่งเป็นการประชุมระดับสูง ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 และที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างแนวปฏิบัติสากลนี้ จากนั้นประเทศไทยได้มีบทบาทนำในการผลักดันร่างแนวปฏิบัติสากลฉบับนี้ ให้ได้การรับรองจากคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 56 เพื่อจะเข้าสู่การรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา จนได้รับการยอมรับ เป็นแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ (United Nations Guiding Principles on Alternative Development: UNGPs on AD) ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2556
สำหรับประเทศไทยได้ใช้แนวปฏิบัติการพัฒนาทางเลือกมานานกว่า 40 ปี ในปี 2558 นี้ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและนิทรรศการระหว่างประเทศเพื่อผลักดันแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 2 (International Seminar Workshop on the Implementation of United Nations Guiding Principles on Alternative Development 2: ICAD 2) จึงเป็นความภาคภูมิใจของรัฐบาลไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติครั้งนี้ เพราะจะเป็นการเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าไทยเราเป็นผู้นำด้านการพัฒนาทางเลือก โดยสามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบปลูกพืชเสพติดได้ด้วยการพัฒนาทางเลือกตาม “ศาสตร์ของพระราชา” จนได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ และกลายเป็นแนวปฏิบัติสากลในที่สุด คณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ โดยมีพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงเป็นองค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการและสำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กำหนดให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและนิทรรศการระหว่างประเทศดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 19-24 พฤศจิกายน 2558 ณ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2558 เป็นการศึกษาดูงานพื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกในประเทศเมียนมาและไทย โดยเริ่มแรกจะเดินทางเยี่ยมชมเมืองหย่องข่า จังหวัดเมืองสาด รัฐฉานตะวันออก สาธารณรัฐเมียนมาซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนไทย-เมียนมา เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวปฏิบัติสหประชาชาติสามารถนำไปปรับใช้ได้สำเร็จในพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สร้างทางเลือกที่ยั่งยืนไม่หันสู่กิจกรรมที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับกับยาเสพติด และจากนั้นจะเดินทางศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ในประเทศไทย เป็นการเยี่ยมชมโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งบริหารงานโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) และโครงการหลวง อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทั้งนี้จะเน้นการศึกษาตามหัวข้อหลักของแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกในภาพรวม รวมถึง เรื่องการเข้าถึงตลาดและความยั่งยืนของโครงการพัฒนาทางเลือก ส่วนที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2558 การประชุมผู้บริหารระดับสูงที่กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย องค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ประธานกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานในด้านการพัฒนาทางเลือกจากประเทศสมาชิก (The Commission on Narcotic Drugs : CND) ประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่สนใจในการพัฒนาทางเลือก องค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนชุมชน องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาชน รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศที่มีปัญหาปลูกพืชเสพติด รวมทั้งสิ้นกว่า 250 คนจากทั่วโลก โดยการประชุมจะเน้นย้ำความสำคัญและการผลักดันแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ และยังรวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะ/ข้อมติของที่ประชุมเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยยาเสพติดโลก 2016 ณ กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไปอีกด้วย
กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในวโรกาสที่จะทรงมีพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพผ่านโครงการพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยและชาวโลกตาม “ศาสตร์ของพระราชา” และนับเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะได้แสดงศักยภาพความผู้นำด้านการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนบนเวทีโลก และที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกให้ไทยได้เป็นต้นแบบของการนำการพัฒนาการเลือกมาใช้แก้ไขปัญหายาเสพติด และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญขององค์การสหประชาชาติในการพัฒนาโลกร่วมกันในอนาคต