เมื่อวันที่ : 24 ธ.ค. 2558 00:00
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
5 ครั้ง
ป.ป.ส. ปิดการฝึกอบรมยุทธวิธีฯ โชว์ศักยภาพเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด เมียนมา – ไทย ตามหลักสูตรพิเศษ รองรับปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย
วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2558 เวลา 08.00 น. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตร “ยุทธวิธีเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดเมียนมา - ไทย” พร้อมด้วยพลตำรวจตรี ชินภัทร สารสิน รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และพลตำรวจตรี พลพิพัฒน์ สุขสมบูรณ์ ผู้บังคับการประจำกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมมอบวุฒิบัตรให้กับผู้ผ่านการอบรม ณ กองกำกับการ 5 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “การฝึกอบรมยุทธวิธีเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด เมียนมา - ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดให้กับเจ้าหน้าที่พิเศษผู้ปฏิบัติหน้าที่สกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดทั้งของไทยและเมียนมา ในการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงในการปะทะและต่อสู้ เพิ่มทักษะในการตรวจค้นทางยุทธวิธี การส่งกำลังทางอากาศ จำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการปราบปรามยาเสพติดของสองประเทศ ที่เข้ารับการอบรม รวมทั้งสิ้น 39 นาย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เมียนมา 20 นาย เจ้าหน้าที่ไทย 19 นาย เป็นเจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 9 นาย และเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ส. 10 นาย ระยะเวลาการอบรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 – 24 ธันวาคม 2558 รวม 12 วัน หรือ 121 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 26 ชั่วโมง และเน้นปฏิบัติอย่างเข้มข้น 85 ชั่วโมง เช่น การยิงปืนทางยุทธวิธี การยิงปืนพกฉับพลันในสภาวะกดดัน การปฏิบัติการในระยะประชิด (Close Quarter Battle : CQB) การสกัดกั้นเส้นทางหลบหนีของผู้ค้ายาเสพติด การตรวจค้นสถานที่เป้าหมายในป่า การวางแผนและปฏิบัติการจู่โจมเป้าหมาย การนับเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อสนับสนุนภารกิจภายใต้แผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีด้านยาเสพติด เรื่องแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะเวลา 3 ปี (2559 –2561) ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมหน่วยงานผู้ร่วมสังเกตการณ์อีก 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานพิทักษ์เขตแดนแห่งออสเตรเลีย (ABF) และสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะ 3 ปี ที่เน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและแม่น้ำโขงที่เป็นรูปธรรม โดยมองพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเดียวกัน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 วง คือวงในเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด วงกลางเป็นพื้นที่ลำเลียงยาเสพติด วงนอกพื้นที่นำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ มุ่งเน้นการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าไปยังแหล่งผลิต และสกัดกั้นยาเสพติดออกจากแหล่งผลิต แบ่งแผนปฏิบัติการออกเป็น 6 แผน คือ แผนควบคุม สกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ แผนสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดผ่านแม่น้ำโขงและพื้นที่สำคัญ แผนสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดทางบก แผนสืบสวน ปราบปรามกลุ่มผลิตและค้าที่สำคัญ แผนสนับสนุนมาตรการและการพัฒนาพื้นที่ แผนพัฒนาการบริหารจัดการและอำนวยการ โดยประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 และสาธารณรัฐประชาชนจีนรับเป็นเจ้าภาพในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2559 และจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ ในทุกประเทศเชื่อมโยงกันด้วยระบบการข่าว ฐานข้อมูล แผนที่ภูมิศาสตร์และการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมรับรองแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะเวลา 3 ปี (2559 – 2561) โดยมีเรื่องที่จะต้องดำเนินการทันที คือ พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ขยายเครือข่ายการประสานงานระหว่างศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยและประเทศสมาชิก โดยการส่งเจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศมาปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ รวมถึง การจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ นับเป็นความก้าวหน้าของการร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดระหว่างประเทศ ที่เป็นการดำเนินการในลักษณะการปฏิบัติจริงซึ่งแต่ละประเทศต่างให้ความสำคัญและให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง จน UNODC ยกย่องว่าเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลได้จริง และจะนำไปเสนอในที่ประชุมระดับโลกเพื่อเป็นแบบอย่างกับภูมิภาคอื่น ๆ
แกลลอรี่
ผู้เขียน : โอเพ่น เทค
ภาพโดย : โอเพ่น เทค