เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2568 พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. มอบหมายให้ นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นำคณะผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. เข้าร่วมกิจกรรมการประเมินภัยคุกคามด้านยาเสพติดและสารตั้งต้น (Drug and Precursor Threat Assessment Mission) ซึ่งจัดโดยสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) ร่วมกับผู้แทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกัมพูชา จีน สปป.ลาว และเวียดนาม เป็นวันสุดท้าย โดยประเทศสมาชิกร่วมแบ่งปันสถานการณ์ยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น และหารือร่วมกันถึงแนวทางในการรับมือและแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคร่วมกัน
ในห้วงการประชุม ผู้แทนระดับสูงจากกัมพูชา จีน สปป.ลาว ไทย เวียดนาม และ UNODC ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนสถานการณ์ จุดเน้น ความท้าทายตลอดจนข้อเสนอในการดำเนินงานควบคุมยาเสพติดและสารตั้งต้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกัน สถานการณ์ยาเสพติดในอนุภูมิภาคในภาพรวมยังคงอยู่ในภาวะรุนแรง พบการการแพร่ระบาดของยาบ้าเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ทั้งปริมาณการจับกุมและจำนวนผู้ติดยาเสพติด ในขณะที่การลักลอบค้ายาไอซ์ยังคงอยู่ในระดับสูง หลายพื้นที่ในลาว ไทยและกัมพูชายังคงถูกใช้เป็นช่องทางในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดและสารตั้งต้นทั้งทางบกและทางทะเล ในขณะที่มณฑลยูนนานในจีน เร่งดำเนินมาตรการสกัดกั้นการรั่วไหลของเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในอนุภูมิภาค สภาพภูมิประเทศในส่วนที่เป็นภูเขาสูงและมีความซับซ้อนทำให้การลาดตระเวนตรวจตราทำได้ยาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะทางยาว รวมถึง ระบบการแบ่งปันข้อมูลด้านยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นที่ยังไม่รวดเร็วเท่าที่ควร
ต่อมา ผู้แทนศูนย์ความร่วมมือและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Integrated Law Enforcement and Security Cooperation Center-LMLECC) ได้เน้นย้ำปัจจัยที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาค ได้แก่ เสริมสร้างการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง และความร่วมมือในเชิงยุทธการ การเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่และการช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการให้กับประเทศที่ต้องการ และใช้การพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืนควบคู่กับมาตรการป้องกันโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง
ภายหลังการบรรยาย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเน้นย้ำความสำคัญในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารการจับกุมยาเสพติดและสารตั้งต้น รวมถึงการทำลายเครือข่ายลักลอบผลิตและค้ายาเสพติดข้ามชาติในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและภูมิภาคใกล้เคียง ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งานระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าของ UNODC ในการเฝ้าระวังและติดตามสารตั้งต้นที่ลักลอบใช้ในการผลิตยาเสพติด เช่น PENS, PICS, and IONICS ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล SMCC ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้ในการวิเคราะห์เส้นทางการลักลอบ แต่เพื่อเฝ้าระวัง สกัดกั้นและต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายองค์กรค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าและขอให้ UNODC ทบทวนกรอบความร่วมมือการบริหารจัดการชายแดนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าและความร่วมมือข้ามแดนในการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและสารตั้งต้น และยินดีให้ความช่วยเหลือ UNODC และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการเสริมสร้างศักยภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และเน้นย้ำการให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือและสนับสนุนเมียนมาในการสกัดกั้นและปราบปรามปัญหายาเสพติด
ในช่วงท้ายการประชุม ทุกประเทศต่างเห็นพ้องร่วมกันในการเพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกันอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ขอรับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการปราบปรามยาเสพติดและการสนับสนุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจจับยาเสพติดให้กับเจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมถึงการใช้กลไกการติดตามสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล เพิ่มปฏิบัติการร่วมระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศอื่น ๆ รวมถึง ส่งเสริมการดำเนินงานพัฒนาทางเลือกเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพื้นที่ห่างไกลให้ไม่เข้าสู่วงจรยาเสพติด ทั้งนี้ UNODC หวังให้การดำเนินงานของคณะทำงานทั้ง 3 คณะ ภายใต้ข้อริเริ่มของจีนในการควบคุมยาเสพติดสังเคราะห์ ซึ่งจะมีการจัดการประชุมประจำปี ครั้งที่ 2 ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2568 เป็นกลไกสำคัญในการจัดตั้งมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคร่วมกัน