วันที่ 26 มิถุนายน 2558 เวลา 14.00 น. (เวลาท้องถิ่น) พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเสด็จเข้าร่วม "กิจกรรมพิเศษเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ปี ค.ศ. 2015" ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crimes – UNODC) จัดขึ้นเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักและรณรงค์เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดระดับโลก ตลอดจนเพื่อรับทราบสถานการณ์ปัญหายาเสพติดโลก โดยในปีนี้มีความสำคัญคือสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กราบทูลเชิญ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อประทานพระดำรัสในงานฯ และมีการบรรจุเนื้อหาของการพัฒนาทางเลือกในรายงานประจำปีฯ เป็นครั้งแรก ซึ่งประเทศไทยได้ผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด สำหรับรายงานสถานการณ์ยาเสพติดโลกฉบับดังกล่าว สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้รวบรวมจากแบบสอบถามที่ส่งให้ประเทศในทุกภูมิภาคของโลก เพื่อให้ทราบสถานการณ์ยาเสพติดโลกในปัจจุบัน
โอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีพระดำรัสแสดงความชื่นชมและขอบคุณสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ที่ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ยาเสพติดโลกในปัจจุบันและเป็นการเรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหายาเสพติด โดยทรงกล่าวว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทุกประเทศต้องร่วมมือกันและแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกัน และทรงกล่าวถึงบทบาทการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ในโลก โดยเฉพาะเมทแอมแฟตามีน ชื่อเรียกโดยทั่วไปในไทยคือ ยาบ้า ซึ่งมีผลกระทบร้ายแรงในไทยมามากกว่า 10 ปี รวมถึงการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นของเมทแอมแฟตามีนชนิดผลึก หรือไอซ์ ขณะที่การจับกุมเมทแอมแฟตามีนยังคงมีปริมาณสูงมาก ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ (NPS) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้มีผลกระทบใกล้เคียงกับสารที่มีการควบคุมแล้ว สารก่อนสารตั้งต้นชนิดใหม่ที่ยังไม่มีการควบคุมเหล่านี้ กลายเป็นสารที่ใช้ทดแทนสารตั้งต้นที่มีการควบคุม โดย พัฒนาการเหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงความเร่งด่วนของการเสริมสร้างความร่วมมือกันโดยเฉพาะในระดับภูมิภาค สำหรับประเทศไทยมีความร่วมมือในลักษณะความเป็นหุ้นส่วนระหว่าง 6 ประเทศ ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และUNODC มามากกว่า 20 ปี ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการควบคุมยาเสพติด ปี ค.ศ. 1993 ที่ได้พิสูจน์ว่าเป็นตัวอย่างสำคัญของความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับประเทศไทย ให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษ ในการควบคุมสารตั้งต้น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไทยได้ร่วมมือกับ UNODC และ INCB (คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ) จัดการประชุมระหว่างประเทศสำคัญ ในหัวข้อเรื่อง "สารตั้งต้นและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่" เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือในประเด็นนี้ นอกเหนือจากนี้ ประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมืออาเซียนด้านยาเสพติด หรือ อาเซียนนาร์โค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการควบคุมอาเสพติด เมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้เครือข่ายความร่วมมืออาเซียนนาร์โค การสกัดกั้นและการจับกุมยาเสพติดได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยได้จับกุม ไอโซซาฟโฟร (Isosafrole) และ ซับโฟร (Safrole) มีปริมาณถึง 16,165 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตสารกระตุ้นคล้ายยาบ้าแต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่า เรียกว่า เอ็กซ์ตาซี (Ecstasy)
ในวโรกาสนี้ ได้ทรงมีสุนทรพจน์และบรรยายสรุปเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วม "โครงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและนิทรรศการระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันแนวทางปฏิบัติสหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ" ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2558 ด้วย
จากนั้น เสด็จไปยังห้อง CO 431 อาคารศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ประทานพระวโรกาสให้นายยูริ เฟเดทอฟ (MR.Yury Fedotov) เข้าเฝ้า โดยทรงร่วมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการพัฒนาทางเลือก และประทานหนังสือเชิญร่วม"โครงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและนิทรรศการระหว่างประเทศ เพื่อผนักดันแนวทางปฏิบัติสหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ" เพื่อการสร้างเครือข่ายการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคต
(หมายเหตุ ภาพข่าว VDO clip จะออกอากาศในช่วงข่าวพระราชสำนัก วันที่ 27 มิย เวลา 20.00 น. เวลาในประเทศไทย)