วันนี้ (8 มิถุนายน 2558) เวลา 13.30 น. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 1/2558 พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ จากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวง
การต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 100 คน โดยมี นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ สาระสำคัญของการประชุม เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในรอบ 7 เดือน (1 ตุลาคม 2557 - 30 เมษายน 2558) ผลการตรวจราชการของคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การวางแผนประสานสอดคล้องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และเรื่องการรณรงค์เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2558 รวมถึงพิจารณาการบูรณาการงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงาน ป.ป.ส.
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม/ผอ.ศอ.ปส. ให้ข้อมูลว่า “การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรกในปี 2558 ของ ศอ.ปส. เพื่อติดตามผลดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ในรอบ 7 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 – 30 เมษายน 2558 ซึ่งมีผลการดำเนินงาน เป็นที่น่าพอใจ สะท้อนจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 40,950 ราย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดภายหลังดำเนินงานตามแผนฯ มาแล้ว 6 เดือน (1 ตุลาคม 2557 – 31 มีนาคม 2558) พบว่าประชาชนร้อยละ 52.3 ระบุว่าไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 76.2 ระบุว่าไม่มีปัญหาด้านผู้ค้า/ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 54.9 ระบุว่าไม่มีปัญหาด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 81.7 ระบุว่าไม่มีปัญหายาเสพติดในโรงเรียนและในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน นอกจากนี้ประชาชนมากกว่าร้อยละ 95 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกด้าน และประชาชนมากกว่าร้อยละ 94 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล”
นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งทำหน้าที่ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้นำเสนอเรื่องสำคัญให้ที่ประชุมทราบอีก 2 เรื่อง คือ เรื่องแผนประสานสอดคล้อง ซึ่งเป็นข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการจัดทำแผนประสานสอดคล้องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการอำนวยการ ประสานงาน กำกับ ติดตามการปฏิบัติของทุกหน่วยงานให้สามารถบูรณาการการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ศอ.ปส. ทราบแล้ว จะนำเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และเรื่องการรณรงค์เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติด (26 มิถุนายน) ประจำปี 2558 ซึ่งในส่วนกลางได้มีการมอบหมายให้ ศอ.ปส.กระทรวง ศอ.ปส.กทม. และหน่วยงานภาคี บูรณาการการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน โดยกำหนดจัดกิจกรรมแถลงข่าวเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติด พร้อมเปิดตัวต้นแบบสำหรับเยาวชนในการร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ต่อต้านยาเสพติด ในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2558 ณ สำนักงาน ป.ป.ส. สำหรับในวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2558 ในช่วงเช้า 10.00 น. จะมีกิจกรรมการเผาทำลายยาเสพติดของกลาง ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ และในช่วงบ่ายเวลา 14.00 น. จะเป็นกิจกรรมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2558 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ณ หอประชุมใหญ่กรมประชาสัมพันธ์ ส่วนในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2558 มีกิจกรรมเปิดนิทรรศการแสดง “สุดยอดภาพถ่ายกิจกรรมป้องกันยาเสพติด” และกิจกรรม “ต้นไม้แห่งความดี” ในส่วนภูมิภาค ได้มอบหมาย ศอ.ปส.จ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดตามแนวทางที่เห็นชอบร่วมกัน”
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผอ.ศอ.ปส. กล่าวปิดท้ายว่า “ในส่วนของการบูรณาการงบประมาณป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 นั้น ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 แล้ว ในวงเงินงบประมาณ 10,879 ล้านบาท สำหรับงบประมาณป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ได้รับจะจำแนกงบประมาณตามมาตรการหลัก 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการด้านการป้องกันยาเสพติด ได้รับจัดสรรงบประมาณ ร้อยละ 34.28 ซึ่งสัดส่วนของงบประมาณใกล้เคียงกับมาตรการด้านการบำบัดรักษายาเสพติด (ร้อยละ 34.89) และมาตรการด้านการปราบปรามยาเสพติด ได้รับจัดสรรงบประมาณร้อยละ 30.83 ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายในโอกาสต่อไป”