ป.ป.ส. ผนึกกำลัง ปราบปรามร้านขายยาไร้จรรยาบรรณจำหน่ายยาให้เยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิด

เมื่อวันที่ : 28 พ.ค. 2558 00:00
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
3 ครั้ง
ป.ป.ส. ผนึกกำลัง ปราบปรามร้านขายยาไร้จรรยาบรรณจำหน่ายยาให้เยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิด

27-5-58-pp2.JPG 

    วันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2558 เวลา 17.30 น. นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ร่วมแถลงผลปฏิบัติการปราบปรามร้านขายยาที่ทำผิดกฎหมายและลักลอบจำหน่ายยาให้เยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิดในย่านรามคำแหง
    นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ติดตามและเฝ้าระวังพฤติกรรมและความเชื่อผิดๆ ที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชนบางกลุ่ม ที่นำยาในกลุ่มยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด และยาแก้ไอ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปมาผสมกับเครื่องดื่ม มาดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา เคลิบเคลิ้ม โดยพฤติกรรมนี้กำลังถูกเผยแพร่ไปในวงกว้างผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไปยังกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบมากในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีเยาวชนที่ใช้ยาในทางที่ผิดรวมกว่า 800 คน ในสถานศึกษากว่า 52 แห่ง และพบกลุ่มเยาวชนที่มีพฤติกรรมการใช้ยาในทางที่ผิดและใช้ยาเกินขนาดจนก่อให้เกิดผลร้ายแรงต่อสุขภาพ จนเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน บางรายเกิดภาวะอาการช็อกหมดสติ โดยหากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะมีการสะสมจนเป็นพิษทำให้เกิดอาการไตวาย และถึงแก่ชีวิตได้”
     สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้ร่วมกับ สำนักงาน อย. และ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ปฏิบัติการนำกำลังเข้าปราบปรามร้านขายยาในครั้งนี้ เกิดจากการสืบทราบและได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาให้กับเด็กและเยาวชนในทางที่ผิดในย่านรามคำแหง ซึ่งปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของแผนปฏิบัติการฯ หลังจากที่ได้มีการผนึกกำลังปราบปรามครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน (กก.ดส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ออกปฏิบัติการล่อซื้อยาอันตราย (ทรามาดอลและโปรโคดิล) ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จากร้านขายยาจำนวน 2 แห่งในพื้นที่เขตดอนเมือง ผลการปฏิบัติการสามารถตรวจยึดยาทรามาดอล จำนวน 12,010 เม็ด ยาโปรโคดิล 258 ขวด อัลปราโซแลม 795 เม็ด ยาแก้ไอและ ยาแก้แพ้จำนวนมาก โดยแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าของร้านยา ดังนี้
 1. มีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 (อัลปราโซแลม) ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย
 2. ขายยาไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา
 3. ขายยาชุด
 4. ขายยาแผนปัจจุบันนอกเวลาทำการ
 5. ไม่จัดทำบัญชีการซื้อยา
    นายประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า “สำนักงาน อ.ย. มีข้อมูลร้านขายยาแผนปัจจุบันที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 4,000 แห่ง
โดยมีทั้งร้านขายยาคุณภาพที่มีเภสัชกรเป็นผู้ควบคุมการจ่ายยาจำนวนหนึ่ง รวมถึงเจ้าของร้านขายยาบางรายขาดจรรยาบรรณในวิชาชีพ ต้องการเพียงผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ โดยฉวยโอกาสลักลอบขายยาเหล่านี้ให้กับเยาวชน เพื่อไปใช้ในทางไม่เหมาะสมและเกิดอันตราย” ตลอดจนทางราชการอาจจำเป็นต้องยกระดับการควบคุมยาดังกล่าว ไปขายเฉพาะในโรงพยาบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว
    พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า “ในส่วนของตำรวจนครบาลนอกเหนือจากการร่วมปฏิบัติการปราบปรามร้านขายยาที่ทำผิดกฎหมายและลักลอบจำหน่ายยาให้เยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิดในครั้งนี้แล้ว ยังได้ดำเนินการกวดขันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้สอดส่องดูแลพฤติการณ์ของร้านขายยาในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบว่าหากมีร้านขายยาร้านใดขายยาให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ที่นำยาชนิดต่างๆ ไปใช้ในทางที่ผิด หรือมีการจำหน่ายยาที่ผิดไปจากปกติให้เข้าดำเนินการตรวจสอบและจับกุมได้ทันที ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้น”สถิติการดำเนินการตรวจค้นร้านขายยาและจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดในห้วงเดือนตุลาคม 2557 – พฤษภาคม 2558 มีการดำเนินการตรวจค้นร้านขายยาแล้ว จำนวน 17 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 7 ราย ยึดอัลปราโซแลม 1,098 เม็ด ไดอาซีแพม 808 เม็ด โคเดอีน 70 ขวด ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม 20,960 ขวด โปรโคดิล 289 ขวด และทรามาดอล 73,100 เม็ด
     นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวปิดท้ายว่า “จากการวิเคราะห์ข้อมูลการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดนั้น พบว่ามีแนวโน้มในการกระทำความผิดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน อย. กองบัญชาการตำรวจนครบาล สมาคมร้านขายยาแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางมาตรการป้องกันและปราบปราม ซึ่งจะมีการแถลงเปิดแผนยุทธการในมาตรการการใช้ยาในทางที่ผิดในเร็วๆ นี้”

27-5-58-pp1.jpg

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ