รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโชว์6เดือนยุติธรรม ยึดโยงท้องถิ่นเข้าถึงประชาชนลุยทุจริต-ดันกม.35ฉบับ

เมื่อวันที่ : 23 เม.ย. 2558 00:00
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
2 ครั้ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโชว์6เดือนยุติธรรม ยึดโยงท้องถิ่นเข้าถึงประชาชนลุยทุจริต-ดันกม.35ฉบับ

22-4-58-wt (2).JPG 

           วันที่ 22 เมษายน 2558 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดและแบ่งยุทธศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม ออกมาเป็น 5 ด้าน 1.การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 2.การพัฒนาพฤตินิสัย แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดและการป้องกันการกระทำผิด 3.การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 4.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และ 5.การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ
          โดย พล.อ.ไพบูลย์แถลงผลงานการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์กระทรวงยุติธรรมตามนโยบายรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ว่า มีความก้าวหน้าและเกิดผลสัมฤทธิ์ให้ประชาชนเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรม ได้อย่างเป็นรูปธรรม 6 ด้าน จับต้องและสัมผัสความยุติธรรมได้เพิ่มมากขึ้น
          พล.อ.ไพบูลย์แจกแจงว่า ด้านที่ 1  การลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมใช้เครือข่ายยุติธรรมชุมชนกว่า 69,000 คน ไปบูรณาการร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย ตั้ง "ยุติธรรมชุมชน" นำร่อง 312 ศูนย์ ใน  18 จังหวัด และจะเต็มพื้นที่ ครบทุกตำบลกว่า 7,256 ศูนย์ ทั้งนี้ กระทรวงได้ลงนามความร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ยุติธรรมชุมชน อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานอัยการสูงสุด
          "รวมทั้งกระทรวงให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม โดยช่วยเหลือเงินและค่าใช้จ่ายจาก 'กองทุนยุติธรรม' เป็นการประกันตัว เป็นค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล การตรวจพิสูจน์ และอื่นๆ กว่า 500 ราย เป็นเงิน 83 ล้านบาท รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ผู้เสียหายกว่า 5,000 ราย จำเลย 69  ราย รวมเป็นเงิน 286 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการตั้งคลินิกพัฒนาระบบช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย คลินิกให้คำปรึกษาเด็กและครอบครัวอบอุ่น 96 แห่ง  โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
          "และตอนนี้ยังเตรียมเปิดสถานแรกรับอีก 10 จังหวัด เนื่องจากปัจจุบัน มีสถานพินิจฯทั่วประเทศ ครบ 77 จังหวัด แต่มีสถานพินิจที่มีสถานที่แรกรับเพียง 44 จังหวัด ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดควรได้รับการควบคุมในจังหวัดของตนเอง เพื่อพ่อแม่จะได้เยี่ยมบุตรหลานได้สะดวก อีกทั้งครอบครัวและชุมชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ" รมว.ยุติธรรมเผย และว่า
          ขณะที่ในเรื่องการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยการพิสูจน์สัญชาติคืนสิทธิให้กับประชาชน โดยการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร ด้วยการจัดเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ทำให้บุคคลดังกล่าว
          สามารถเข้าถึงการให้บริการพื้นฐานของรัฐได้ พัฒนาการปฏิบัติงานการตรวจพิสูจน์และการจัดการข้อมูล ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษและองค์กรอาชญากรรม ได้ยึดอายัดทรัพย์สินอดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด กับพวก มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท การจับกุมขบวนการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ลวงและบังคับคนไทยไปทำงานในเรือประมงในน่านน้ำต่างประเทศ
          พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ด้านที่ 2  การสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยการฟื้นฟูผู้กระผิด โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 และ พ.ร.บ.คุมประพฤติ  พ.ศ.... ทั้งนี้อยากอธิบายการเสนอยกร่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ฉบับใหม่ เป็นการยกเครื่องกลไกบริหารจัดการงานราชทัณฑ์ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้าง ระบบการทำงานราชทัณฑ์ และระบบพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งของต้องห้าม การพัฒนาพฤตินิสัยและการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก
          "พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เป็นลักษณะของการเติมเต็ม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับเดิม ให้ครอบคลุมทุกด้านมากกว่า ที่สำคัญเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะงานด้านราชทัณฑ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการแก้ไขฟื้นฟู แก้ไขปัญหายาเสพติดในเรือนจำ ผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดฟื้นฟู และป้องกันการกลับไปเสพยาและกระทำผิดซ้ำ จะนำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญคือ สังคมปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ส่วนการปรับแก้ พ.ร.บ.คุมประพฤติ  พ.ศ. ...ให้อำนาจศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจได้ทุกคดีไม่เฉพาะแต่ความผิดเล็กน้อย และเป็นการบูรณาการกฎหมายการบริหารจัดการงานคุมประพฤติของประเทศ
          "กรมคุมประพฤติต้องพัฒนากระบวนการงานคุมประพฤติให้มีกฎหมายรองรับกลไกในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น มีมาตรการเสริมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดที่หลากหลาย เช่น การจัดตั้งบ้านสงเคราะห์ (Halfway House) เพื่อสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ส่งเสริมให้ประชาชนและภาคเอกชน อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชนมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมากรมคุมประพฤติส่งเสริมสนับสนุนการแก้ไขฟื้นฟูและสงเคราะห์ผู้กระทำผิด ฝึกอาชีพกว่า 3,000 ราย พัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพ ช่วยเหลือด้านการเงินและแหล่งทุน สนับสนุนศึกษาต่อและการประกอบอาชีพกว่า 1,000 ราย รวมทั้งการจ้างงานผู้กระทำผิดเพื่อประกอบอาชีพในสำนักงานคุมประพฤติ และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 227 ราย โดยปี 2557 มีการจ้างงานผู้ที่เคยกระทำผิดจากกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจฯ 706 ราย รายได้เฉลี่ยต่อคน 8,000 บาทต่อเดือน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 50 ล้านบาท"พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
          สำหรับ ด้านที่ 3 การป้องกันยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา สถานประกอบการ การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษตลอดจนการติดตามและการให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดไม่ให้หวนกลับไปเสพซ้ำ
          พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน คือ ปราบปราม ป้องกัน และฟื้นฟู
          "งานด้านการปราบปรามยาเสพติดกับต่างประเทศ จะเน้นแก้ปัญหาพื้นที่ผลิตยาเสพติด การลักลอบขนสารเคมีภัณฑ์ และงานด้านการข่าว มีโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย 4 ประเทศ (จีน ลาว พม่า ไทย) งานปราบปรามภายในประเทศ เน้นการ บูรณาการการปฏิบัติงานของฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร สกัดกั้นยาเสพติดตามเส้นทางคมนาคม การปราบปรามการแพร่ระบาด การสืบสวนทางการเงิน เอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และปราบปรามการแพร่ระบาดยาเสพติดในเรือนจำ งานด้านการป้องกัน เน้นสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็กปฐมวัย กลุ่มนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 และการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและผู้ต้องขัง ได้ปรับระบบให้เป็นเอกภาพและรองรับกัน เน้นคุณภาพเพื่อให้ผู้เสพผู้ติดได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง" รมว.ยุติธรรมเผย มาถึงงานที่สร้างความตื่นตัวในแวดวงข้าราชการ ในงาน ด้านที่ 4  การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ช่วงที่ผ่านมามีการตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดย พล.อ.ไพบูลย์บอกว่า จะมุ่งเน้นการประสานงานและบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อน การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ ศอตช.จะเป็นกลไกในการบริหารจัดการขับเคลื่อนให้ทุกส่วนราชการต้องปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานของตนเอง หากหัวหน้าส่วนราชการละเลยไม่ดำเนินการจะมีความผิดทางวินัย ศอตช. ยังบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีคำสั่งที่ 69/2557 เป็นเครื่องมือสำคัญและงานที่สำคัญ เสนอให้ใช้มาตรการของฝ่ายบริหาร ได้แก่ มาตรการทางปกครอง ทางวินัยมาใช้  โดยมีการเสนอรายชื่อผู้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำการทุจริตให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาใช้มาตรการโยกย้ายจากจุดที่มีปัญหา
          ด้านที่ 5  การสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ได้ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงการบริหารจัดการในการบังคับคดีแพ่งและกระบวนการเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายเพื่อให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยดำเนินการเชิงรุก จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีประจำสำนักงานบังคับคดี ทั่วประเทศ 114 แห่ง ในรอบ 6 เดือน คดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี 5,693 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4,923 เรื่อง ก่อให้เกิดผลเชิงบวกให้กับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ทำให้ยุติข้อพิพาทด้วยความรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณการบังคับคดี ทำให้คู่กรณีคงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในระยะยาว มีส่วนช่วยเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในสังคม
          "นอกจากนี้ยังเปิดให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินในวันทำการและวันหยุดราชการ ส่งผลให้คดีสามารถผลักดันทรัพย์สินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เป็นเงิน 49,576 ล้านบาท ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ ยังมีงานด้านการส่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการจัดอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก กรมบังคับคดีแก้ไขปัญหาล้มละลาย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และผลักดันโครงการปรับปรุงบริการอย่างชัดเจน รวมทั้งนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการบังคับคดีมากขึ้น" รมว.ยุติธรรมเผย ส่วน ด้านที่ 6  การพัฒนากฎหมายของประเทศ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมผลักดันกฎหมายและมีผลบังคับใช้แล้ว 1 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 ส่วนกฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนรอประกาศใช้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ร่างกฎหมายที่เข้าสู่กระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ อยู่ระหว่างการตรวจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) 13 ฉบับ กลุ่มที่สอง คือ ร่างที่เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาและ กระทรวงยุติธรรมกำลังยกร่าง 21 ฉบับ
          "อย่างไรก็ตาม ผลงานทั้ง 6 ด้านนั้น ผมคิดว่าจะทำให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย กระบวนการยุติธรรมต้องมีราคาถูก เพราะจะช่วยอำนวยความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมแห่งความปลอดภัยตามเจตนารมณ์ของกระทรวงยุติธรรม  และสิ่งที่สำคัญสุดคือ ชาวบ้านให้ความไว้วางใจว่ากระบวนการยุติธรรมมีความเป็นธรรมนำไปสู่ข้อยุติและเกิดการยอมรับได้ ทั้งหมดนี้เป็นกุญแจสำคัญไขไปสู่การแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้"พล.อ.ไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย

22-4-58-wt (1).jpg 

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ