ป.ป.ส. ร่วมมือ 5 หน่วยงาน ลงนาม MOU ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในสถานประกอบการขนส่ง

เมื่อวันที่ : 9 เม.ย. 2558 00:00
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
2 ครั้ง
​ป.ป.ส. ร่วมมือ 5 หน่วยงาน ลงนาม MOU ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในสถานประกอบการขนส่ง

9-4-58-pp (1).JPG 

          วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2558 เวลา 10.00 น. นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายจำเริญ โพธิยอด รองอธิบดีกรมศุลกากร นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการเดินรถ บริษัท ขนส่ง จำกัด นายสัญญา ทองสะพัก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รวม 6 หน่วยงาน ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการขนส่ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเตรียมการป้องกันมิให้สถานประกอบการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ถูกใช้เป็นช่องทางในการลักลอบลำเลียงยาเสพติด รวมไปถึงการให้ความร่วมมือที่จะเผยแพร่สื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติดผ่านช่องทางสื่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งบนรถโดยสารประจำทาง สถานีขนส่งผู้โดยสาร และสถานีรถไฟทั่วประเทศ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงาน ป.ป.ส.
       นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ ป.ป.ส. /โฆษกสำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการขนส่งในวันนี้ สืบเนื่องจากที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศฯ ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2558) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีหลักการสำคัญ คือ กำหนดให้สถานที่หรือที่เก็บสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งใช้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด พ.ศ. 2519 และการกำหนดมาตรการให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการต้องดำเนินการ เมื่อมีการรับฝากส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ต้องเร่งดำเนินการ ควบคุม สอดส่องไม่ให้พนักงานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องคัดเลือกบุคลากรที่ไม่มีประวัติพัวพันกับยาเสพติดเข้าทำงาน ทำการบันทึกประวัติพนักงาน ให้ความร่วมมือกับ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือตำรวจ จัดทำบันทึกรายละเอียดของผู้ส่งและจัดเก็บไว้ไม่น้อยกว่า 180 วัน หากพบเบาะแสยาเสพติดต้องแจ้งเหตุโดยเร็วที่สุด และต้องปิดประกาศให้ผู้ส่งทราบว่า ยาเสพติดเป็นสิ่งของผิดกฎหมายและต้องห้ามในการขนส่งโดยเด็ดขาด สิ่งของที่เกี่ยวข้องอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมาย”
       นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า “หลังจากลงนามร่วมกันวันนี้แล้ว     ทางกรมการขนส่งทางบก จะเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในมาตรการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบกโดยตรง เช่น การควบคุมสอดส่องดูแลสถานประกอบการขนส่งที่อยู่ในความรับผิดชอบ ขอความร่วมมือสถานประกอบการขนส่งในการดำเนินการเพื่อสกัดกั้นยาเสพติด จัดให้มีการชี้แจงแก่ผู้ประกอบการขนส่งเพื่อให้ทราบแนวทางในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดูแลระมัดระวังมิให้มีการใช้พื้นที่ประกอบการขนส่งในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งการแจ้งข่าวสารและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการขนส่งที่อยู่ในความควบคุม ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัดต่อไป พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการเผยแพร่ละครกึ่งสารคดีผ่านช่องทางสื่อที่กรมการขนส่งทางบกรับผิดชอบอยู่”
        นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวภายหลังจากการลงนามว่า “สำนักงาน ป.ป.ส. ขอขอบคุณทั้ง 5 หน่วยงาน ที่ได้มาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการขนส่ง ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จากสถิติที่ผ่านมามีผลการจับกุมยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายหลายชนิดที่ลักลอบส่งทางไปรษณียภัณฑ์และทางระบบการขนส่ง ทั้งการส่งภายในประเทศ การนำเข้า และการส่งออกตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ดังนี้ ยาบ้า 4,938,167 เม็ด ไอซ์ 9.257 กิโลกรัม โคเคน 1.565 กิโลกรัม กัญชาอัดแท่ง 10 กิโลกรัม พืชกระท่อม 883.64 กิโลกรัม วัตถุออกฤทธิ์จำนวน 37,165 เม็ด ยาแก้ไอ 2,856 ขวด และยาแก้ไอบรรจุในขวดน้ำอัดลม จำนวน 19,450 มิลลิลิตร ยาทรามาดอล จำนวน 39,500 เม็ด โดยการลักลอบส่งยาบ้าและไอซ์ทางไปรษณีย์และทางบริษัทขนส่ง มักมีต้นทางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือมาส่งยังพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคใต้ ส่วนการส่งพืชกระท่อมและวัตถุออกฤทธิ์ รวมทั้งยาอื่นที่ใช้เป็นส่วนผสมสี่คูณร้อยจะมีต้นทางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปลายทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการนำไปรษณียภัณฑ์เหล่านี้มาคัดแยก ที่ศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ก่อนส่งไปยังปลายทาง ซึ่งจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้การลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านทางระบบขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ลดน้อยลง และยังเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโทษพิษภัยจากยาเสพติดและการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังปัญหาเสพติดให้กับประชาชนด้วย

9-4-58-pp (2).jpg 

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ