ยุติธรรมผนึกกำลัง 29 หน่วยงานวางรากฐานสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชน พร้อมพัฒนาระบบงานบำบัดแบบครบวงจร

เมื่อวันที่ : 5 มี.ค. 2558 00:00
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
3 ครั้ง
ยุติธรรมผนึกกำลัง 29 หน่วยงานวางรากฐานสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชน พร้อมพัฒนาระบบงานบำบัดแบบครบวงจร

5-3-58-pp03.jpg

 วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2558 เวลา 09.30 น. สำนักงาน ป.ป.ส. จัดประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานและบูรณาการระบบงานป้องกันยาเสพติดและบำบัดรักษา โดยมี พลเอกไพบูลย์  คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 29 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส.
 การประชุมครั้งนี้เพื่อพิจารณา 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ระบบงานด้านป้องกันซึ่งเกี่ยวข้องกับ   ยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด และยุทธศาสตร์ที่ 7 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชน ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกภาคส่วนในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งปีนี้ (2558) เป็นปีแรกที่ยุทธศาสตร์การป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ความสำคัญกับการวางรากฐานการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดตั้งแต่กลุ่มปฐมวัย  คือ ระหว่าง 3-6 ปี โดยเน้นการพัฒนาความสามารถของสมองในการจัดการกับชีวิต (Executive Functions : EFs) เพื่อเป็นพื้นฐานภูมิคุ้มกันยาเสพติด การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตนเองและการป้องกันเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด  สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดกลุ่มเด็กและเยาวชนช่วงวัยอื่นๆ  ได้แบ่งกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยนักเรียนระดับประถมศึกษาตั้งแต่ ป.1-6 เน้นทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิตผ่านกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียน ใช้วิทยากรป้องกันยาเสพติด และครูตำรวจ  D.A.R.E. ในการสอนระดับ ป.6 นักเรียนระดับอาชีวศึกษา เน้นทำกิจกรรมเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem) ส่งเสริมการทำกิจกรรมทางเลือก/จิตอาสา/กิจกรรมเสริมกลไกการเฝ้าระวังในโรงเรียน  รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัญหายาเสพติดตามศาสนาที่นับถือ สำหรับนักศึกษาอุดมศึกษามุ่งเน้นกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายอุดมศึกษา การเฝ้าระวังและการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้นอกจากต้องใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับช่วงวัย แล้วยังต้องคำนึงถึงสภาพปัจจัยเงื่อนไขในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึง  การกระตุ้นให้สังคมเกิดกระแสการตื่นตัว ตระหนักในปัญหาและพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านช่องทางการสื่อสาร ทุกรูปแบบ อาทิ สื่อบุคคล สื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ ฯ รวมถึงการสร้างองค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชน วิทยากรกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง 
 เรื่องที่ 2 คือ ระบบงานด้านบำบัดฟื้นฟูแบบครบวงจร ซึ่งเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 การแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างและพัฒนาระบบรองรับการคืนคนดีสู่สังคม ซึ่งระบบงานด้านบำบัดเน้นการให้โอกาสแก่ผู้เสพผู้ติดเข้ารับการบำบัดในระบบสมัครใจ โดยไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ตั้งแต่กระบวนการค้นหา คัดกรอง การบำบัดฟื้นฟู และการติดตามดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
โดยเฉพาะในส่วนของการบำบัดกึ่งสมัครใจ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/57 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เมื่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ตั้งด่าน ปิดล้อม จัดระเบียบ ตรวจปัสสาวะ และพบว่าเป็นผู้เสพ จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองในศูนย์เพื่อการคัดกรอง เพื่อตรวจสอบประวัติ ประเมินสภาพการเสพติด ก่อนวางแผนส่งต่อเข้าบำบัดในค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลักสูตรมาตรฐานใหม่ หรือในสถานพยาบาล กรณีพบว่าเป็นผู้เสพและไม่ยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯ หรือยินยอมเข้าบำบัดฟื้นฟูฯ ครบ 5 ครั้ง จะเข้าสู่กระบวนการบังคับบำบัดแบบควบคุมตัว และสำหรับยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาระบบรองรับการคืนคนดีสู่สังคม มีเป้าหมายสำหรับผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูทุกระบบ เน้นการติดตามดูแลช่วยเหลือ โดยศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฯ อำเภอ จะมอบกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด 4-7 ครั้ง ในรอบ 1 ปี เพื่อวิเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ กรณีผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูฯ ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ ศูนย์ประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูอำเภอ/เขต จะให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตามความประสงค์ โดยประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือในเรื่องการศึกษา   การฝึกอาชีพ การจัดหางาน ทุนประกอบอาชีพ และอื่นๆ กรณีเกินศักยภาพจะส่งต่อศูนย์เพื่อประสานดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูจังหวัด/กทม. เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูฯ ตามความเหมาะสมต่อไป
 และในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2558 กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดทำโครงการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีขึ้น ทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค จำนวนทั้งสิ้น 4 กิจกรรม ได้แก่
 กิจกรรมที่ 1 โครงการค่ายศาสนธรรมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 กิจกรรมที่ 2 โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 กิจกรรมที่ 3 การประกวดสุดยอดภาพถ่ายกิจกรรมป้องกันยาเสพติดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมต้นไม้แห่งความดีและใบปณิธานต่อต้านยาเสพติดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  
 โดยมีระยะเวลาดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ เดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้แก่เยาวชนโดยใช้หลักศาสนา สร้างแกนนำเยาวชนในการป้องกัน เฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในโรงเรียน รวมทั้งเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณผ่านกิจกรรมทั้ง 4 กิจกรรม

5-3-58-pp4.jpg 

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ