วันที่ 19 ก.พ. 58 เวลา 09.30 น. นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. แถลงข่าวผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย (Safe Mekong Coordination Center (SMCC)) โดยสามารถจับกุมยาเสพติด และสารตั้งต้นได้จำนวนมาก ณ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. อาคาร 2 ชั้น 4 สำนักงาน ป.ป.ส.
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายการทำงานเชิงรุกด้านยาเสพติดโดยเฉพาะการประสานงานกับต่างประเทศ เพื่อสกัดกั้นยาเสพติด และสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดจากภายนอกประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ส. จัดทำแผนปฏิบัติการ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการข่าวสำหรับ 4 ประเทศสมาชิก (จีน ลาว เมียนมา และไทย) ในการรวบรวมข้อมูลยาเสพติดของแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์เป็นเวทีในการระดมสมองเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และประสานข้อมูลในทางลับเพื่อสกัดกั้นจับกุมนักค้ายาเสพติดที่ลักลอบลำเลียงขนยาเสพติดผ่านประเทศสมาชิก และนำไปสู่การทำลายแหล่งผลิตต้นตอของขบวนการให้ได้ในที่สุด ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินภารกิจสำคัญร่วมกันทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ การลาดตระเวนร่วม การปิดล้อมตรวจค้น การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดบนถนนเลียบลำน้ำโขง การสุ่มตรวจร้านที่ส่งออกเคมีภัณฑ์ในพื้นที่เป้าหมายใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น อ.แม่สาย จ.เชียงราย และการตรวจค้นท่าเรือ บริเวณท่าเรือเมืองพง จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา ท่าเรือบ้านมอม สปป.ลาว ท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งตั้งแต่ 12 ม.ค. – 18 ก.พ. 58 สามารถจับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่ 4 ประเทศ รวม 1,117 คดี จับกุมผู้ต้องหา 1,289 คน ยาเสพติดที่จับกุมได้มากที่สุด คือ ยาบ้า 9,444,468 เม็ด รองลงมา คือ ไอซ์ 440.64 กก. เฮโรอีน 180.61 กก. ฝิ่น 59.27 กก. ส่วนสารเคมีที่ยึดได้จำนวนมากที่สุด คือ เมทิลลีนคลอไรด์ (Methylene Chloride) น้ำหนัก 20,000 กก. กาเฟอีน 8,150 กก. และยึดซูโดอีเฟดรีน 293 กก.
คดีที่น่าสนใจ ได้แก่
1. เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 58 สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ ตำรวจภูธรภาค 5 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองทัพเรือ กองกำลังผาเมือง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 2 สารวัตรทหาร และศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ จับกุมผู้ต้องหา 3 คน พร้อมของกลางยาบ้า 288,000 เม็ด ไอซ์ 19.5 กก. ขยายผลยึดเงินสด 121,500 บาท รถยนต์ และสมุดบัญชีธนาคารหลายรายการสอบสวนผู้ต้องหารับยาเสพติดมาจากพื้นที่บ้านปูนาโก่ เมียนมา ผ่านทาง จังหวัดท่าขี้เหล็ก – อ.แม่สาย
จ.เชียงราย – กรุงเทพฯ เพื่อส่งให้กับลูกค้าในพื้นที่ตอนในต่อไป โดยมีกลุ่มผู้ลักลอบลำเลียงเป็นกลุ่มมูเซอ
2. เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 58 สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ “ยุทธการทำลายเครือข่ายแม่โขง 2.1” และกำหนดเป้าหมายในการตรวจค้น คือ นายภาวี เลิศกฤติธร เพื่อจับกุมตามหมายจับในข้อหาสมคบฯ รวมทั้งยึด/อายัดทรัพย์สินที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวเนื่องกับการค้ายาเสพติด พื้นที่ปฏิบัติการ
ที่เกี่ยวข้อง รวม 10 แห่ง ในพื้นที่ อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.เมือง จ.เชียงราย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดอายัดประมาณ 51,998,159 บาท
3. เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 58 สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ ตำรวจภูธรภาค 5 กองกำลังผาเมือง ตำรวจปราบปรามยาเสพติด หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตเชียงราย และ ฝ่ายปกครองเชียงราย ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด และผู้หลบหนีหมายจับในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา ตามยุทธการ “ฟ้าสางที่ริมน้ำโขง” สนับสนุนโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ผลการปฏิบัติสามารถจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 77 ราย พร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 447,051 เม็ด ยึด/อายัดทรัพย์สินรวม 65 ล้านบาท
4. เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 58 สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับศุลกากรด่านเชียงแสน และหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตเชียงราย ตรวจสอบสารเคมีเมทิลลีนคลอไรด์ (Methylene Chloride) น้ำหนัก 20 ตัน ที่ทางเข้าท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบว่า เป็นสารเคมีที่สั่งจากบริษัทผู้ผลิตในสาธารณรัฐประชาชนจีน ลำเลียงทางเรือมายังท่าเรือกรุงเทพฯ เพื่อส่งออกทางท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 ไปยังบริษัทปลายทางในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทั้งนี้เมทิลลีนคลอไรด์ เป็นวัตถุอันตรายประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เป็นสารเคมีทั่วไปใช้ในการอุตสาหกรรมเป็นตัวทำละลายในการผลิตน้ำยาทำความสะอาด ตัวทำละลายในขั้นตอนทำอาหาร ตัวทำละลายสี ทำฟิล์มถ่ายรูป และเป็นยาชาเฉพาะที่ หากนำไปใช้ในทางที่ผิดสามารถใช้ในขั้นตอนทำละลายของกระบวนการผลิตยาเสพติดประเภทโคเคน ไอซ์ และยาบ้า ซึ่งสารดังกล่าวจะสลายไปในกระบวนการผลิต เมทิลลีนคลอไรด์สามารถนำไปผลิตไอซ์ได้ประมาณ 4,000 กก. หรือผลิตยาบ้าได้ประมาณ 200 ล้านเม็ด
5. การจับกุมยาเสพติดในสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถจับกุมคดีสำคัญ ดังนี้
คดีที่ 1 วันที่ 21 ม.ค. 58 จับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางเฮโรอีนประมาณ 25.24 กก.
ที่เมืองเป่าซาน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน ซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศเมียนมา
คดีที่ 2 ในวันเดียวกันสามารถจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาบ้า 59.7 กก. ซุกซ่อนในรถบรรทุกผลไม้ ที่เมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน
คดีที่ 3 วันที่ 18 ม.ค. 58 จับกุมผู้ต้องหา 2 คน ของกลางเฮโรอีน 22.21 กก. ที่เมืองหลินซาง มณฑลยูนนาน โดยเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเมียนมา โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนแจ้งว่ายาเสพติดเป็นของกลุ่มโกกั้ง
คดีที่ 4 วันที่ 24 ม.ค. 58 จับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาบ้า 15.8 กก. ซุกซ่อนในรถบรรทุกผลไม้ ที่เมืองเหวินซาน มณฑลยูนนาน
คดีที่ 5 วันที่ 30 ม.ค. 58 ตำรวจนครเซี่ยงไฮ้ร่วมกับตำรวจกว่างตุ้ง ทำลายแหล่งผลิตไอซ์ขนาดใหญ่ที่สุด ในเมืองลู่ฟง มณฑลกว่างตุ้ง สามารถยึดไอซ์ได้จำนวนทั้งสิ้น 2.4 ตัน ประกอบด้วยไอซ์บริสุทธิ์ 400 กก. และไอซ์ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการผลิตอีก 2 ตัน รวมทั้งเงินสด 1.51 ล้านหยวน และอุปกรณ์การผลิตจำนวนหนึ่ง โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 28 คน
6. การจับกุมยาเสพติดในสหภาพเมียนมา
คดีที่ 1 วันที่ 24 ม.ค. 58 ปปส.เมียนมาร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรประจำจุดตรวจต่ากอ จ.รอยริน ประเทศเมียนมา จับกุมผู้ต้องหาชาวเมียนมา 2 คน ของกลางเฮโรอีนอัดแท่ง 70 กก. ห่อประทับตราตัวเลข “111” สีแดง ซุกซ่อนในช่องเก็บของใต้ท้องรถบรรทุก 20 แท่ง ในฝากระบะท้ายรถซึ่งดัดแปลงเป็นช่องลับ 120 แท่ง และในยางอะไหล่ 60 แท่ง ที่จุดตรวจต่ากอ จ.รอยริน บนสะพานแม่น้ำสาละวิน ประเทศเมียนมา
คดีที่ 2 วันที่ 8 ก.พ. 58 CCDAC จ.รอยเร็ม (รัฐฉานตอนใต้) จับกุมผู้ต้องหา 1 คน พร้อมยาบ้า 1,306,000 เม็ด ที่ จุดตรวจ รอยเร็ม เส้นทางลำเลียง บ้านปิงหลวง-รอยเร็ม
คดีที่ 3 วันที่ 16 ก.พ. 58 Central Committee for Drug Abuse Control (CCDAC) ร่วมกับทหารเมียนมา ตรวจยึดกาเฟอีนประมาณ 8,151 กก. ที่ Mong Lin อยู่ระหว่างท่าเรือเชียงราบ และ
อ.ท่าขี้เหล็ก ส่วนผู้ต้องหาหลบหนีไปได้ กาเฟอีนที่ยึดได้บรรจุในกระสอบอาหารสัตว์ของเวียดนาม มีเส้นทางลำเลียงจากเวียดนาม – สปป.ลาว – เมืองพง เมียนมา ใช้เส้นทางลำเลียงผ่านแม่น้ำโขง
นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “กาเฟอีน 1 กก. สามารถนำไปผสมอัดเม็ดยาบ้าได้ 1.7 หมื่นเม็ด ล็อตนี้ที่เราจับกุมได้สามารถผลิตยาบ้าได้ 136 ล้านเม็ด และเมทิลลีนคลอไรด์20 ตัน สามารถนำไปผลิตยาบ้าได้ถึง 200 ล้านเม็ด เท่ากับว่าเราสามารถสกัดกั้นสารตั้งต้น และป้องกันไม่ให้มีการผลิตยาบ้าได้กว่า 300 ล้านเม็ด ถือเป็นความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการประสานงานทางการข่าวจากทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทย และผู้นำทั้ง 4 ประเทศ ตลอดจนหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่ร่วมกันสอดส่องดูแลเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ทำให้สามารถตรวจยึดสารตั้งต้น และจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวนมาก”