วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2557 เวลา 09.30 น. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ยุติธรรมเป็นประธานการประชุมการบูรณาการแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2558 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในห้วง 4 เดือน (ตั้งแต่22 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2557) และให้ความเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2558 ซึ่งจะประกาศใช้ในปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) พร้อมเปิดปฏิบัติการจัดการปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 3 เดือน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ 27 หน่วยงาน เช่น กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ฯ รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 100 คน ณ ห้องประชุม ชิดชัย วรรณสถิตย์ ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงาน ป.ป.ส.
ผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในช่วงปีงบประมาณ 2557 (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 - 30 ก.ย. 57) สามารถจับกุมคดียาเสพติดในภาพรวม 345,774 คดี ผู้ต้องหา 364,587 ราย ปริมาณของกลางยาเสพติด ยาบ้า 96,140,903 เม็ด, ไอซ์ 1,072 กิโลกรัม,เฮโรอีน 497 กิโลกรัม,กัญชา 28,103 กิโลกรัม ยึด/อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติดได้ 1,467 ล้านบาท และนำผู้เสพ/ผู้ติดเข้ารับการบำบัดรักษา จำนวน 289,288 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ 125,246 คน ระบบบังคับ 141,347 คน ระบบต้องโทษ 22,695 คน และในช่วงที่มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/ 2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ได้เพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมยาเสพติดตามแนวชายแดน ควบคุมผู้ค้า/ผู้เสพ ควบคุมเรือนจำ ควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้การดำเนินงาน ในการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ส่งผลต่อระดับความพึงพอใจของประชาชนซึ่งสำรวจโดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ครั้งหลังสุดพบว่า ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานยาเสพติดช่วงปลายปี (ซึ่งเป็นช่วงของ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ) สูงกว่ารอบต้นปี โดยคิดเป็นร้อยละ 91.42 ในขณะเดียวกัน ยังพบว่า ประชาชนมีเชื่อมั่นในรัฐบาลสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 36.96 และต้องการให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่องต่อไป
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “ที่มีการจัดประชุมขึ้นในวันนี้เพื่อให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้ง 27 หน่วยงานรับทราบผลการดำเนินงานและปัญหา-อุปสรรค พร้อมให้ความเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2558 และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน (ต.ค. – ธ.ค. 57) โดยแผนการจัดการปัญหา ยาเสพติดดังกล่าวให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานเชิงรุกทั้งในด้านความร่วมมือภายนอกประเทศ การป้องกันในกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดรายใหม่ การแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดให้ครบวงจร สร้างมาตรฐานการบำบัดรักษา สกัดกั้นยาเสพติดแบบบูรณาการ ทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้า ยาเสพติดด้วยการตัดวงจรทางการเงิน ปราบปรามเครือข่ายนักค้ายาเสพติด และการแพร่ระบาด ในเรือนจำ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างแท้จริง”
โดยแผนฯ ปี 2558 ประกอบไปด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์การควบคุมตัวยาและผู้ค้ายาเสพติด ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ยุทธศาสตร์การป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแบบบูรณาการ
ทั้งนี้เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแผนฯ ปี 2558 คือ 1. การลดปริมาณยาเสพติดนอกประเทศ โดยเน้นมาตรการเชิงรุก ในเรื่องการข่าวที่ชัดเจน มีปฏิบัติการทางการทหาร มีการกำหนดเป้าหมายการสืบสวนร่วมกัน 2. การลดกลุ่มการค้าระดับต่างๆ โดยการทำลายโครงสร้างการค้า-อิทธิพล-เส้นทางการเงิน ของกลุ่มตามแนวชายแดน โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้เป็นยุทธการร่วม รวมถึงการเสนอให้มี การจัดกำลังแบบ Task Force โดยเฉพาะงานทางด้านทรัพย์สิน 3. การลดแรงงานยาเสพติดรายใหม่ โดยการณรงค์ ป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกัน 4. การลดจำนวนผู้เสพยาเสพติด โดยการพัฒนามาตรฐานการบำบัดทุกระบบ ให้ครอบคลุมทุกด้าน สร้างความพร้อม และพัฒนาระบบติดตาม ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด โดยพัฒนาการติดตาม อย่างเหมาะสมกับบุคคล 5. การแก้ไขปัญหาในพื้นที่พิเศษ 3 พื้นที่ คือ จังหวัดชายแดนเหนือ โดยการจัดกลไกเบ็ดเสร็จ เพื่อทำลายโครงสร้างการค้าชายแดนและตัดเส้นทางการเงิน พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยการจัดกลไกแบบบูรณาการส่วนกลางและท้องถิ่น ตามแนวทางของ HIDTA และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยการบูรณาการกับพื้นที่ปัญหาความมั่นคง โดยกลไก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า 6. การสร้างเอกภาพและบูรณาการแผน ทุกระดับ ทั้งระบบ ทั้งนี้ที่ประชุมยังกล่าวถึงปัจจัยที่จะทำให้แผนฉบับนี้ประสบผลสำเร็จ อาทิ ความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน การทำงานซึ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
ซึ่งผลสรุปภายหลังจากการประชุมนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละยุทธศาสตร์จะต้องแปลงไปสู่การปฏิบัติโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน 3 เดือนโดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ ความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดสูงขึ้น ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในภาพรวมลดลง โดยอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะกำหนดเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนฯ ปี 2558 นี้ต่อไป