สำนักงาน ป.ป.ส. นำคณะเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดต่างประเทศประจำประเทศไทย ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและการมีส่วนร่วมของชุมชน อ.แม่ระมาด จ.ตาก

เมื่อวันที่ : 25 เม.ย. 2568 14:55
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
459 ครั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2568 นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นำคณะเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดต่างประเทศประจำประเทศไทย ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและการมีส่วนร่วมของชุมชน อ.แม่ระมาด จ.ตาก โดยมีผู้แทนจากกรมศุลกากร กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ส. เข้าร่วม

ในช่วงเช้า คณะฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดด้วยเมทาโดน ณ อาคารปฐมภูมิ โรงพยาบาลแม่ระมาด จ.ตาก โดยมีนายแพทย์พิจารณ์ สารเสวก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก นายแพทย์สุธา ภัทรกิจรุ่งเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด นายปริญญา สายโรจน์ นายอำเภอแม่ระมาด และบุคลากรโรงพยาบาลแม่ระมาด ร่วมให้การต้อนรับ และนำเยี่ยมชมการดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยเฉพาะการให้บริการบำบัดรักษาผู้ติดฝิ่น เฮโรอีนด้วยสารเมทาโดนทดแทนระยะยาวและยาอมใต้ลิ้นบรูพรีนอร์ฟิน/นาล็อกโซน ทั้งแบบผ่านคลินิกยาเสพติด และการออกให้บริการจุดจ่ายเมทาโดน (Drop in center) ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งโรงพยาบาลแม่ระมาดจะมีระบบติดตามดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในชุมชนผ่านความร่วมมือกับกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาสังคม มูลนิธิ Give Hope ร่วมดูแลและให้กำลังใจผู้ป่วย ทั้งนี้ มีผู้เข้ารับบริการอยู่ในระบบและเขตบริการกว่า 300 ราย ในโอกาสนี้ คณะฯ ได้ร่วมแจกเมทาโดนให้แก่ผู้ป่วย โดย นายอภิกิต ได้กล่าวให้กำลังใจแก่ผู้เข้ารับการบำบัด พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของความตั้งใจจริงในการเลิกยาเสพติด และยืนยันว่า สำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลแม่ระมาดอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในมิติการฟื้นฟูและป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ ทั้งนี้ โรงพยาบาลแม่ระมาดถือเป็นหน่วยบริการต้นแบบด้านการดำเนินงานการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มผู้เสพฝิ่น อันเนื่องมาจากในอดีต อ.แม่ระมาดเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกฝิ่นมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก อ.อมก๋อย ในพื้นที่ ต.แม่ตื่น ต.สามหมื่น ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ตามวิถีชนเผ่าที่มีทัศนคติ ค่านิยมเรื่องการใช้ฝิ่นเพื่อเป็นยารักษาโรค และใช้ในงานประเพณีต่างๆ มายาวนาน จึงทำให้มีประชากรติดฝิ่นจำนวนมาก ประมาณการผู้ติดฝิ่น 800 – 1000 คน โดยโรงพยาบาลแม่ระมาดได้ดำเนินการบำบัดผู้ติดยาเสพติดด้วยเมทาโดนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และประสบความสำเร็จในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดรวมถึงการติดตามภายหลังการบำบัดเพื่อป้องกันการกลับไปเสพติดซ้ำได้หลายร้อยราย อีกทั้ง ยังมีการจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ในพื้นที่โรงพยาบาลแม่ระมาด อันเป็นนวัตกรรมที่สำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูที่มีมาตรฐานในรูปแบบ intermediated care ซึ่งช่วยลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอย ลดค่าใช้จ่าย และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน ในห้วงการรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล นายอภิกิต ได้นำเสนอนโยบายการวิจัยพัฒนาตัวยาทดแทนยาบ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยและพัฒนาตัวยาทดแทนยาบ้า เพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้เสพติดยาบ้าโดยเฉพาะ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า หากวิจัยได้สำเร็จจะสามารถยกระดับคุณภาพของระบบการบำบัดรักษายาเสพติดของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกันนี้ ได้ถือโอกาสเชิญชวนให้เจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งแสดงความสนใจต่อการวิจัยดังกล่าว ร่วมให้การสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาวิธีการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป

ในช่วงบ่าย นายอภิกิต นำคณะฯ เดินทางไปยัง ที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด เพื่อศึกษาดูงานภารกิจของ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) โดยมี นายปริญญา สายโรจน์ นายอำเภอแม่ระมาด ให้การต้อนรับและนำชมการสาธิตภารกิจของ ชรบ. 2 ชุด ได้แก่การระงับเหตุที่เป็นอันตรายต่อชุมชน กรณี บุคคลคลุ้มคลั่งจากการเสพยาเสพติดและมีอาวุธ และการตั้งจุดตรวจจุดสกัดบุคคลและยานพาหนะต้องสงสัย พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปภารกิจของ ชรบ. ในการมีส่วนร่วมป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในระดับชุมชน รวมถึงสะท้อนปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน นายอภิกิตฯ ได้กล่าวยืนยันว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ตระหนักถึงบทบาทของ ชรบ. ในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด และพร้อมสนับสนุนหากมีข้อเสนอหรือปัญหาเร่งด่วน อย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้คณะเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดต่างประเทศให้ความสนใจและชื่นชมการดำเนินงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับชุมชนของประเทศไทย นอกจากนั้น ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ต้องเริ่มจากชุมชนเป็นศูนย์กลางเพราะไม่มีใครที่จะทราบถึงปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้ดีไปกว่าคนในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวคือ ยาเสพติดไม่กลัวกำลังทหาร ไม่กลัวอาวุธ แต่ยาเสพติดกลัวความรักของแม่ กลัวครอบครัวที่อบอุ่น กลัวชุมชนที่เข้มแข็ง ถ้าชุมชนมีความเข้มแข็งลุกขึ้นต่อสู้ยาเสพติดชุมชนจะปลอดภัยจากยาเสพติด ทั้งนี้ ผู้แทนผู้ประสานงานยาเสพติดต่างประเทศ ต่างชื่นชมและประทับใจ ความเสียสละและทุ่มเทของกลุ่มชาวบ้านอาสาชุด ชรบ.และการทำงานเพื่อชุมชน และให้กำลังใจในการบูรณาการการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกมาตรการในที่พื้นที่เพื่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ