ป.ป.ส. เข้าร่วมประชุมเครือข่ายข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน (ASEAN Drug Monitoring Network Meeting: ADMN) ครั้งที่ 18 นำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน

เมื่อวันที่ : 8 เม.ย. 2568 21:29
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
79 ครั้ง
วันอังคารที่ 8 เมษายน 2568 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) มอบหมายให้นางสาวรัชนีกร สรสิริ ที่ปรึกษา สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือด้านยาเสพติดอาเซียน (ASEAN - NARCO) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นำคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย รศ.ดร. มานพ คณะโต ผู้อำนวยการเครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รศ.พ.ต.ต.หญิง ดร.พูนรัตน์ ลียติกุล ผู้แทนเครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนางสาวสุพจนี ชุติดำรง รักษาการในตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ สำนักพัฒนาป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมด้วยผู้แทนจาก สำนักปราบปรามยาเสพติด และ สำนักการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมเครือข่ายข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน (ASEAN Drug Monitoring Network Meeting: ADMN) ครั้งที่ 18 ร่วมกับประเทศสมาชิก ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันอังคารที่ 8 – วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2568 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด (Dangerous Drugs Board: DDB) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ
โดยการประชุมเครือข่ายข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน ADMN เป็นการดําเนินการภายใต้ศูนย์ความร่วมมือต้านยาเสพติดอาเซียน (ASEAN Cooperation Center: ASEAN-NARCO) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการเฝ้าระวังและวิเคราะห์สถานการณ์ยาเสพติด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครื่องมือและกลไกในการรวบรวม วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพภายในภูมิภาค โดยมีเครือข่ายวิชาการด้านยาเสพติดของประเทศไทยเป็นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน
ในช่วงพิธีเปิดการประชุม พลตำรวจจัตวา ออสการ์ เอฟ วาเนซูเอลา ประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้กล่าวว่าการประชุมในวันนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ยาเสพพติดระหว่างกัน ร่วมไปถึงเป็นเวทีในการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการปรากฏของสารเสพติดออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดใหม่ (NPS) รวมไปถึงแนวโน้มยาเสพติดอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและความมั่นคงในภูมิภาค พร้อมทั้งขอให้ประเทศสมาชิกยึดถือคุณค่าอาเซียน คือ ความเป็นหนึ่งเดียวและความร่วมมือกันในภูมิภาค
ในห้วงการประชุมนางสาวรัชนีกร สรสิริ ที่ปรึกษา สำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงความสำเร็จของเครือข่าย ADMN โดยเฉพาะผลการประชุมครั้งที่ 16 และ 17 ที่ไทยได้ร่วมเป็นเจ้าภาพกับเมียนมา และจัดขึ้น ณ ประเทศไทยตามลำดับ ซึ่งมีการหารือประเด็นสำคัญอย่างครอบคลุม ทั้งแนวโน้มการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านเส้นทางทะเล การแพร่ระบาดของยาบ้าในกลุ่มเยาวชน และการใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดที่ซับซ้อนขึ้น
ต่อมาในช่วงการนำเสนอรายงานสถานการณ์ยาเสพติดของแต่ละประเทศ ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำเสนอภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศไทย โดยระบุว่า แม้จำนวนคดียาเสพติดจะลดลง แต่ปริมาณของกลางที่ตรวจยึดได้ โดยเฉพาะยาบ้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 18-24 ปี ซึ่งรัฐบาลไทยได้เร่งเดินหน้า “มาตรการครบวงจร” ทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดฟื้นฟูอย่างเข้มข้น พร้อมเสริมความเข้มแข็งในพื้นที่ชายแดน เพื่อลดการแพร่ระบาดจากต้นทาง นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ภายในประเทศ โดยพบว่าปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังคงรุนแรง มีแนวโน้มการลักลอบนำเข้ายาเสพติดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ยาบ้าและไอซ์ ในประเทศกัมพูชา บรูไน ลาว อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อีกทั้งยังพบรูปแบบใหม่ของยาเสพติดผสมน้ำในบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่มีบทบาทเชิงรุกในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs: CND) สมัยที่ 68 ซึ่งประเทศไทยได้หยิบยกประเด็นปัญหายาบ้าของภูมิภาคอาเซียนขึ้นหารือในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนไทยเข้าร่วมการประชุม CND เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักรู้จากประสบการณ์ตรง ทั้งนี้ประเทศไทยยังได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมวิจัยและพัฒนายาช่วยบำบัดผู้ติดยาบ้า ซึ่งมีประเทศเมียนมาและประเทศมาเลเซียที่ให้ความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมพัฒนาศึกษาวิจัยด้วย

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ