คณะผู้แทนกัมพูชา ศึกษาดูงาน แบบอย่างชุมชนเข้มแข็ง โครงการ CBTX บ้านสันเจริญ และงานสกัดกั้นชายแดนเส้นทางแม่น้ำโขง พร้อมศึกษาดูงานศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยของไทย

เมื่อวันที่ : 27 มี.ค. 2568 11:14
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
52 ครั้ง

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2568 พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. มอบหมายให้ นางสาวศรีตระกูล เวลาดี ผู้อำนวยสำนักการต่างประเทศ เป็นผู้แทนให้การต้อนรับ และนำคณะผู้แทนกัมพูชา ซึ่งนำโดย พลตำรวจเอก เมียะ วีริทธิ์ (Pol.Gen. Meas Vyrith) เลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (National Authority for Combating Drugs: NACD) และนายสาน โสพล (San Sophal) อธิบดีกรมฟื้นฟูสมรรถภาพ กระทรวงกิจการสังคม ทหารผ่านศึก และการฟื้นฟูเยาวชน พร้อมด้วยคณะผู้แทนระดับสูงจาก NACD และ กรมสุขภาพจิตและยาเสพติด ประเทศกัมพูชา ศึกษาดูงาน ณ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงราย ระหว่างวันอังคารที่ 25 - วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568

สำหรับการศึกษาดูงานวันที่สอง ในห้วงเช้า คณะฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการป้องกันและการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx) ณ หมู่บ้านสันเจริญ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงาน ป.ป.ส. โดยมีนายบุญส่ง ตินารี นายอำเภอเมืองเชียงราย ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ โครงการ CBTx บ้านสันเจริญ ดูแลครอบคลุม 20 หมู่บ้าน และกลุ่มบ้านบริวารอีก 40 กลุ่มบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาติพันธุ์อาข่าที่อพยพมาจากหลายพื้นที่ รวมถึงจากประเทศเมียนมา โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งมาตั้งรกรากในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ปี 2540 และเคยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างรุนแรง ทั้งในฐานะแหล่งเสพ จำหน่าย และพักยา เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของขบวนการค้ายาเสพติด จนกระทั้งชุมชนได้ลุกขึ้นมาร่วมมือกับภาครัฐ โดยมีสำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ผ่านโครงการ CBTx ตั้งแต่ปี 2563 จนสามารถยกระดับเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถป้องกันและบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านผู้นำและคณะกรรมการหมู่บ้านซึ่งได้มีการจัดประชาคมเพื่อสำรวจความต้องการ และมีมติร่วมกันห้ามขายยาเสพติดในหมู่บ้าน พร้อมจัดทำ กฎชุมชน ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม 2) การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สารเสพติด ซึ่งผู้ที่เคยใช้สารเสพติดจะได้รับโอกาสเข้ารับการบำบัดและกลับคืนสู่ชุมชนในฐานะคนดีของสังคม 3) ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ยาว ซึ่งทำหน้าที่คัดกรอง ประสานการส่งตัว และติดตามผู้เข้ารับการบำบัดร่วมกับมูลนิธิธัญญารักษ์และโรงพยาบาลแม่ลาว 4) การต้อนรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น (reintegration) โดยชุมชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จัดพิธีต้อนรับผู้ผ่านการบำบัด พร้อมส่งกำลังใจจากญาติ ผู้นำศาสนา และภาคีเครือข่าย 5) การฟื้นฟูและติดตามผลระยะยาว มีการจัดทำแผนที่ชุมชน คัดกรองผู้เสพซ้ำ ดูแลกลุ่มเสี่ยงในเด็กและเยาวชน และสนับสนุนกิจกรรมทางเลือก เช่น กีฬาและศาสนา 6) การสร้างภาวะแวดล้อมที่ดี ซึ่งทางโครงการได้รับการสนับสนุนจาก ป.ป.ส. ภาค 5 ในการจัดอุปกรณ์กีฬาและส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง

ในโอกาสนี้ พลตำรวจเอก เมียะ วีริทธิ์ เลขาธิการ NACD ได้กล่าวชื่นชมความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของภาครัฐและชุมชน โดยเฉพาะการดำเนินงานงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ยาว ซึ่งทำหน้าที่คัดกรอง ประสานการส่งตัว และติดตามผู้เข้ารับการบำบัดร่วมกับศูนย์มินิธัญญารักษ์แม่ลาว โรงพยาบาลแม่ลาว ร่วมไปถึงการได้รับกำลังใจจากญาติ ผู้นำศาสนา และภาคีเครือข่าย ซึ่งพร้อมที่จะรับผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดกลับเข้าสู่ชุมชน โดยเลขาธิการ NACD เน้นย้ำว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากกลุ่มชาวบ้านสันเจริญ

ในห้วงบ่ายนางสาวศรีตระกูล เวลาดี ได้นำคณะเดินทางไปรับฟังการบรรยายสรุปการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านเส้นทางแม่น้ำโขง ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) จังหวัดเชียงราย โดยมี น.อ.ภากร มาเนียม ผบ.นรข. เขตเชียงราย เป็นผู้ให้การตอนรับ โดยภายหลังการบรรยายสรุปฯ คณะฯ ได้ลงพื้นที่โดยการล่องเรือสำรวจเส้นทางและภูมิประเทศตลอดแนวลำน้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่ใช้ในการลำเลียงยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเอื้อต่อการหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ทั้งนี้ การศึกษาภาคสนามในครั้งนี้ช่วยให้คณะฯ เข้าใจถึงลักษณะภูมิประเทศและข้อจำกัดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและสกัดกั้นยาเสพติดในระดับพื้นที่

ต่อมา คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (SMCC) โดยเฉพาะแนวทางในการเป็นเจ้าภาพของศูนย์ฯ ซึ่งทางกัมพูชากำลังจะเป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไป ทั้งนี้ผู้แทนจาก SMCC ประเทศไทย ได้สรุปแนวทางและบทบาทการเป็นเจ้าภาพของศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย ระหว่าง 6 ประเทศ โดยถอดบทเรียนจากการเป็นเจ้าภาพศูนย์ฯ ของเวียดนามเมื่อปี 2565 โดยมีกิจกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน เช่น การประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง การพบปะหารือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศเจ้าภาพ การลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงด้านยาเสพติด การฝึกอบรมเครื่องมือข่าวกรองจาก The International Narcotics Control Board (INCB) และกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ และในห้วงท้ายของวันนี้ คณะฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชม วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ (วปส.) ร่วมถึงชมหอฝิ่นอุทยานแห่งชาติสามเหลี่ยมทองคำ ที่ตั้งอยู่ในพื้นทีของ วปส. พร้อมทั้งรับฟัง แนวทางการพัฒนา วปส. ให้เป็นสถานที่ สนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาเสพติด และการสร้างความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ในการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด ผ่านการเข้าร่วมศึกษา อบรมหลักสูตรต่าง ๆ และเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ของนานาประเทศ แบบครบวงจรซึ่งพลตำรวจเอก เมียะ วีริทธิ์ ได้กล่าวชื่นชมแนวคิดการพัฒนา วปส.และพร้อมให้ความร่วมมือ สนง.ป.ป.ส. ในการที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ วิจัยและฝึกอบรม ให้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายด้านยาเสพติดในภูมิภาคต่อไป พร้อมกันนี้ คณะผู้บริหารจากกัมพูชายังได้เข้าตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชา ซึ่งกำลังเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร การปฏิบัติการสืบสวนขยายผลคดียาเสพติด (Narcotics Investigations Course) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้านการปราบปรามยาเสพติด และการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา รวมจำนวนทั้งสิ้น 42 นาย

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ