วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด หรือ ศปก.ครส. เปิดการประชุม ศปก.ครส. ครั้งที่ 5/2568 ร่วมกับคณะที่ปรึกษาของ ศปก.ครส. พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานภาคี จาก 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบออนไลน์และ ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ กล่าวเปิดการประชุม ผ่านระบบออนไลน์ ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยแจ้งประเด็นการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) สมัยที่ 68 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 10 - 14 มีนาคม 2568 โดยในปีนี้ สำนักงาน ปปส. จะผลักดันให้ปัญหา "ยาบ้า" ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการแก้ไขปัญหา
2. การยกระดับการปราบปรามยาเสพติด จากแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ในวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานอัยการสูงสุด, กองบัญชาการกองทัพไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ
3. การเปิดปฏิบัติการตัดไฟแต่ต้นลม ครั้งที่ 3 (ยึดทรัพย์สิน 80 ล้านบาท) เครือข่ายส่งออกไอซ์ - เฮโรอื่น ข้ามชาติในวันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยเลขาธิการ ป.ป.ส. ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานตำรวจ ทหารในพื้นที่ ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการ
ในลำดับต่อไปเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้มอบหมายให้ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุมฯ โดยศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. แจ้งประเด็นสำคัญในเรื่องสถานการณ์ยาเสพติดมีการสกัดกั้นยาบ้า และไอซ์บริเวณแนวชายแดนได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับในห้วงเวลาเดิมของปี 2567 โดยเฉพาะบริเวณชายแดนภาคตะวันออกฉียงเหนือที่มีการนำเข้ายาเสพติดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการรายงานผลการดำเนินการในห้วงวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 9 มีนาคม 2568 ในทุกมิติ ทั้งในมิติด้านการปราบปรามซึ่งมีการดำเนินการจับกุมคดีความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเป้าหมายดำเนินการให้ได้ ร้อยละ43.83 ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ในข้อหาร้ายแรง เป้าหมาย 94,096 คดี ดำเนินการได้ 62,783 คดี ร้อยละ66.72 ในส่วนของการขยายผลจากการจับกุมในคดีความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ไปสู่คดีการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือข้อหาสมคบ สนับสนุนฯ เป้าหมาย 1,924 คดี ดำเนินการได้ 1,351 คดี ร้อยละ 70.22 และการยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติดจากการดำเนินการจับกุมความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด การยึด อายัดทรัพย์ฯ เป้าหมาย 10,000 ล้านบาท ดำเนินการได้ 4,185 ล้านบาท ร้อยละ41.85
มิติด้านการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด การนำผู้เสพ/ผู้ติด และผู้เสพที่มีอาการแทรกซ้อนทางด้านสุขภาพจิต เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา จำนวน ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดรักษา เป้าหมาย 170,138 ราย ผลการดำเนินงาน 73,706 ราย จำนวนผู้เสพยาเสพติดที่มีอาการทางจิตที่ได้รับการบำบัดรักษา เป้าหมาย 14,359 ราย ผลการดำเนินงาน 12,064 ราย จำนวนของผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด/ผู้เสพยาเสพติดที่มีอาการทางจิต ที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพจนถึงการติดตาม (Retention Rate) พ้นระยะบำบัดครบ 1 ปี จำนวน 31,909 ราย ติดตามครบตามเกณฑ์ จำนวน 23,949 ราย
มิติด้านการป้องกันยาเสพติด ในกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง เป้าหมาย 41,335 คน ดำเนินการได้ 10,824 คน ร้อยละ 26.19 ในส่วนของหมู่บ้าน/ชุมชน เป้าหมาย 82,512 แห่ง ดำเนินการได้ 76,900 แห่ง ร้อยละ 93.20 และในส่วนของสถานบันเทิง/สถานบริการ เป้าหมาย 1,862 แห่ง ดำเนินการได้ 1,845 แห่ง ร้อยละ 99.09
และมิติด้านการบริหารจัดการ โดยมีการรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน ป.ป.ส. ถือเป็นการรายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ ผ่านผู้แทนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักปราบปรามยาเสพติด และ สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งผลการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการเร่งขับเคลื่อนงานยาเสพติดในทุกมิติ มุ่งสู่สังคมปลอดภัยจากยาเสพติด