วั นพุธที่ 9 กันยายน 2558 เวลา 11.00 น.นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วยนายธนากร คัยนันท์ เลขานุการกรม และคณะสื่อมวลชน จำนวน 59 คน ติดตามผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดบริเวณชายแดนตลอดแนวแม่น้ำโขง เพื่อติดตามการสกัดกั้นตามแนวชายแดนและการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตลอดจนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่ที่มียาเสพติดแพร่ระบาดอย่างรุนแรง การแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดของสถานฟื้นฟูฯ รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กตั้งแต่ปฐมวัยด้วยแนวทางวิถีพุทธ ณ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย ในระหว่างวันที่ 9 - 11 กันยายน 2558
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “การพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการติดตามผลการดำเนินงานด้านการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนของภาคประชาชน และการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ณ บ้านหม้อ ม.7 ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เนื่องจากจังหวัดหนองคายมีชายแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกทั้ง อ.ศรีเชียงใหม่มีพื้นที่ชายแดนตลอดแนวแม่น้ำโขงยาวกว่า30 กิโลเมตร จึงมักมีกลุ่มผู้ลักลอบลำเลียงยาเสพติด นำยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่เป็นห้วงๆ ทำให้ยากต่อการสกัดกั้น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 43 หมู่บ้าน ของอำเภอศรีเชียงใหม่ เพื่อเป็นกองกำลังภาคประชาชนในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเน้นปฏิบัติการเป็นพิเศษในพื้นที่หมู่บ้านชายแดน 23 หมู่บ้าน ในตำบลพานพร้าว จำนวน 10 หมู่บ้าน ตำบลบ้านหม้อ จำนวน 7 หมู่บ้าน และตำบลพระพุทธบาท จำนวน 6 หมู่บ้าน ซึ่งอำเภอศรีเชียงใหม่ได้ทำการฝึกทบทวนทุกปี ในพื้นที่เสี่ยงล่อแหลมต่อการลักลอบนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์และได้รับการชมเชย
ในการเสียสละ ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ของอำเภอศรีเชียงใหม่และเป็นที่ภาคภูมิใจของคนในจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งหมู่บ้านบ้านหม้อ ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ ได้นำแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน โดยจัดให้มีเวทีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน และคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านทุกเดือน ให้การสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนหันมาเล่นกีฬาเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดและหลีกเลี่ยงจากอบายมุข ทำให้ในปี 2549 หมู่บ้านบ้านหม้อได้รับคัดเลือก ให้ได้รับพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดิน นอกจากนั้นชาวบ้านยังทำการสนับสนุนต่อยอดกองทุนแม่ของแผ่นดิน โดยการทำผ้าป่าทุกปี และนำเงินที่งอกเงยจากกองทุนแม่ของแผ่นดินไปใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน รวมทั้งให้การช่วยเหลือ ผู้เสพ ผู้ติด ยาเสพติดในหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันจากการสำรวจภายในหมู่บ้าน พบผู้เสพผู้ติดยาเสพติดจำนวน 1 คน และได้นำตัวเข้ารับการบำบัดรักษาฯ ณ ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อำเภอศรีเชียงใหม่ หรือศูนย์ขวัญแผ่นดินอำเภอศรีเชียงใหม่ ในส่วนของนักค้ายาเสพติดสำรวจไม่พบผู้ค้ายาเสพติดอาศัยอยู่ในพื้นที่แล้ว
สำหรับกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงในพื้นที่ จะอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง เนื่องจากเป็นสถานที่สวยงามเหมาะกับการท่องเที่ยวพักผ่อนจึงมีผู้คนและวัยรุ่นหลายหมู่บ้านเข้ามายังบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ออกตรวจตราและตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดเพื่อเป็นการป้องกัน ป้องปราม รวมถึงให้การแนะนำให้รู้ถึงโทษของยาเสพติดเพื่อไม่ให้กลุ่มเสี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ผลปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 – ปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้น 5 คน และสามารถยึดยาเสพติดชนิดยาบ้าได้จำนวน 41,243 เม็ด ฝิ่นดิบจำนวน 20 มิลลิกรัม และไอซ์จำนวน 1.80 กรัม ทั้งนี้เพราะได้รับความร่วมมือภาคประชาชนและประสานความร่วมมือกับนายบ้านดอนชิงชู้ ฝั่ง สปป. ลาว ในการแลกเปลี่ยนข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ลักลอบลำเลียงยาเสพติด เพื่อป้องกันการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศ
วันที่ 10 กันยายน 2558 นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยังสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ณ กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.หนองคาย ซึ่งเป็นสถานบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ในระบบบังคับบำบัด แบบไม่เข้มงวด ในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการบำบัดฯ 120 วัน โดยปฏิบัติต่อผู้ติดยาเสพติดเหมือนผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ติดยาเสพติด พัฒนาการปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่นและสังคมสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ติดยาเสพติดเพื่อป้องกันปัญหาสังคมด้านอาชญากรรมและอื่นๆ รวมทั้งการหวนกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำผลการดำเนินงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กองร้อยอาสารักษาดินแดน จังหวัดหนองคาย ตั้งแต่ปี 2549 – 2558 มีผู้รับเข้าบำบัดทั้งสิ้น 1,028 คน ปัจจุบันครบกำหนดไปแล้วทั้งสิ้น 873 คน โดยชนิดยาเสพติดที่ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ามารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ณ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กองร้อยอาสารักษาดินแดน จังหวัดหนองคาย มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่ ยาบ้า รองลงมาเป็นกัญชา และสารระเหย ตามลำดับ
จากนั้นได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ที่ชุมชนผาสุก ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี โดยสภาพบริเวณชุมชนจากเดิม เป็นชุมชนแออัดมีการมั่วสุมเล่นการพนัน ดื่มสุรายาเมา ด้วยสภาพดังกล่าว จึงก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน ปัญหาการว่างงาน มีปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการค้า การแพร่ระบาดของยาเสพติดระดับรุนแรงมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนผาสุก กว่าร้อยละ 90 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ส. ทหาร ตำรวจ จัดทำโครงการ “ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน” ในชุมชนผาสุก โดยร่วมกับศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดอุดรธานี (ศอ.ปส.จ.อุดรธานี)บูรณาการหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนผาสุก ปรากฏผลการดำเนินงานว่าประชาชนรับรู้ถึงปัญหายาเสพติด รวมทั้งมีความตื่นตัวและสำนึกถึงโทษและพิษภัยจากยาเสพติดมากขึ้น แต่ปัญหาด้านการค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติดยังไม่หมดสิ้นไป เพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้ผลอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ตามข้อสั่งการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนโยบายของรัฐบาล จึงมีการจัดทำแผนยุทธการผาสุก 01 โดยดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฯ มีเจ้าหน้าที่ประจำศาลากลางบ้านชุมชนผาสุก
มีการตั้งด่านตรวจสกัด 3 จุด ในบริเวณชุมชน และมีชุดลาดตระเวนในชุมชนผาสุกอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินการตามแผนยุทธการผาสุก 01 ทำให้ประชาชนในชุมชนผาสุก มีความตระหนักต่อปัญหายาเสพติดมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สามารถติดตามช่วยเหลือผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และนำส่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูฯ ได้กว่า 200 ราย ปิดล้อมตรวจค้นกลุ่มเป้าหมายและดำเนินคดีในข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 22 ราย ดำเนินคดีในข้อหาเสพ จำนวน 58 ราย และนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู จำนวน 108 ราย จากการดำเนินการอย่างเข้มข้นในการบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งจากพลเรือน ตำรวจ และทหาร เข้าปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบในครั้งนี้ ถือเป็นรูปแบบโครงการที่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดและปรับสถานะจากชุมชนที่มีปัญหาระดับมากตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2558 จนเป็นชุมชนที่มีปัญหาระดับน้อยและสามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐที่หมักหมม มากกว่า 20 ปี ได้อย่างเบ็ดเสร็
วันที่ 11 กันยายน 2558 นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และคณะเดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนพัฒนาปัญญา จ.อุดรธานี เพื่อเข้าติดตามการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนพัฒนาปัญญาได้นำแนวทางวิถีพุทธมาปรับใช้ ผนวกเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นไปที่การทำกิจกรรมนั่งสมาธิเพื่อให้เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล จนถึงระดับชั้มมัธยมศึกษาปีที่ 3 (จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 269 คน) มีการฝึกจิตสมาธิควบคู่ไปกับการฝึกความรู้ เพื่อให้เด็กนักเรียนมีสติพร้อมๆ กับปัญญา โดยโรงเรียนพัฒนาปัญญาตั้งขึ้นด้วยปณิธาน ต้องการสร้างสังคมที่อุดมปัญญา พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีปัญญาที่เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา คือการรู้ถูก รู้ผิด รู้ว่าอะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ คิดดี พูดดี ทำดี มีศีล สมาธิ และปัญญา โรงเรียนพัฒนาปัญญาจะเป็นโรงเรียนที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนด้วยการสร้างจิตสำนึกที่ดี สร้างแนวคิด วิธีคิดที่ดีให้แก่นักเรียน เพื่อป้องกันนักเรียนจากอบายมุขและยาเสพติด นอกจากการส่งเสริมให้เยาวชนมีสำนึกรักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ยังจัดกิจกรรมด้านส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาและต่อต้านยาเสพติด โครงการอบรมและพัฒนาบุคลากรการต่อต้านยาเสพติดและกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ ทำให้โรงเรียนพัฒนาปัญญานี้ได้รับรางวัลทางด้านการศึกษามากมายทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ”