เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเดินทางพบปะนายจ้าง และแรงงาน ณ คีบุซอะมานิส ประเทศอิสราเอล เพื่อศึกษาปัญหาและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดของกลุ่มแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน -3 ธันวาคม 2557 จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศมีนายธงชัย ชาสวัสดิ์ อธิบดีกรมการกงสุล เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการเดินทาง เช่น อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนจากกรมศุลกากร สำนักงาน ป.ป.ส. และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ
ปัจจุบันมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลจำนวนมาก ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะทางภาคใต้ของอิสราเอล และพบว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งลักลอบนำเข้าจากประเทศไทยโดยการส่งทางพัสดุไปรษณีย์ด่วนพิเศษ หรือลักลอบเลียงทางเครื่องบิน โดยนำยาบ้าบรรจุหลอดเครื่องดื่ม และซุกซ่อนในสัมภาระ หรือปะปนมากับเครื่องอุปโภคบริโภคที่ส่งไปให้แรงงานไทย ปี 2555 เริ่มพบการลักลอบลำเลียงยาเสพติด (ยาบ้า) ทางเครื่องบิน ครั้งละประมาณ 100 – 2,000 เม็ด และในปี 2556 ถึงปัจจุบัน มีการลำเลียงทั้งยาบ้าและไอซ์มากขึ้น ผู้ลำเลียงเป็นผู้ใช้แรงงานที่เดินทางกลับประเทศไทยในระหว่างสัญญาจ้าง ส่วนใหญ่จะมีผู้ใช้แรงงานด้วยกันที่เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดในประเทศอิสราเอล ว่าจ้างให้แรงงานดังกล่าวลำเลียงยาเสพติดกลับไปยังประเทศอิสราเอลด้วยโดยให้ไปรับยาเสพติดในพื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยบรรจุในเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น กล่องสบู่ ขวดยาสระผม ถุงกาแฟ ซองบุหรี่ฯลฯ ปริมาณการลำเลียงยาบ้าครั้งละประมาณ 500 – 1,000 เม็ด
การค้าและการแพร่ระบาดยาเสพติดในประเทศอิสราเอล ระยะแรก กลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานไทย หลังจากนั้นจะกระจายไปยังกลุ่มวัยรุ่นชาวอิสราเอล ซึ่งพบว่ามีการแพร่ระบาดตามสถานบันเทิง การแพร่ระบาดของยาเสพติดประเภทยาบ้ามีแนวโน้มแพร่กระจายไปในกลุ่มของชาวอิสราเอลเพิ่มขึ้นและอาจกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต ซึ่งทางการอิสราเอลเชื่อว่าในบางกรณีมีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเกิดความเสียหาย จึงจำเป็นต้องดำเนินการหามาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “โทษ และพิษภัยของยาเสพติดไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะต่อตนเองในด้านกายภาพ แต่ยังส่งผลถึงครอบครัว ชุมชน สังคม และในกรณีนี้ส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทย กับอิสราเอล ซึ่งทั้งแรงงานไทย และนายจ้างสามารถร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ โดยแจ้งเบาะแสยาเสพติดของแรงงานไทยในอิสราเอลผ่าน
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ของกระทรวงแรงงาน ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งจะประสานต่อในรายละเอียดกับสำนักงาน ป.ป.ส. ต่อไป”