วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน 2557 เวลา 10.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งที่ 1/2557 พร้อมด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ส. ซึ่งประกอบด้วย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 7 กระทรวง และผู้แทนผู้บริหารหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องอีก 9 แห่ง โดยมี นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ร่วมประชุมเพื่อรับทราบการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ติดตามผลการดำเนินงาน และพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2558 – 2562) และแผนปฏิบัติการประจำปี 2558 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หลังใหม่) ทำเนียบรัฐบาลนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “การประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลนี้ และเป็นคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ ที่มีการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นเอกภาพ ครบวงจร เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ หรือ ศอ.ปส. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 156/2557 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2557 แล้ว โดยมุ่งหวังให้ ศอ.ปส. เป็นองค์กรอำนวยการแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชาติ ทำหน้าที่อำนวยการนำนโยบายยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ/ผู้อำนวยการ และมีหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมี นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ ในคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตอบสนองการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดของ ศอ.ปส. อย่างทันท่วงทีในทุกกรณี”
นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “การประชุมในวันนี้นอกเหนือจากการจัดตั้ง ศอ.ปส. และการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการ ป.ป.ส. แล้ว ยังมีการนำเสนอสถานการณ์และติดตามผลการดำเนินงานในรอบปี 2557 ที่ผ่านมาด้วย หากวัดจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่า ความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงานด้านยาเสพติดช่วงปลายปี ในช่วงที่ คสช. เข้ามาดูแล อยู่ที่ร้อยละ 91.42 ซึ่งสูงกว่าการประเมินในช่วงต้นปีงบประมาณที่ความพึงพอใจของประชาชนอยู่ที่ร้อยละ 75.0” ผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปีงบประมาณ 2557 (1 ต.ค. 56 – 30 ก.ย. 57) ในภาพรวม แยกเป็น 7 แผนงานหลัก ดังนี้
แผนงานที่ 1 การสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด ดำเนินการจำนวน 76,739 หมู่บ้าน/ชุมชน จากเป้าหมาย 81,910 หมู่บ้าน/ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 93.76
แผนงานที่ 2 การแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผลการบำบัดรักษาในทุกระบบ (ระบบสมัครใจ/บังคับบำบัด/ต้องโทษ) เป้าหมาย 300,000 คน เข้ารับการบำบัดฯ จำนวน 303,501 คน คิดเป็นร้อยละ 101.17
แผนงานที่ 3 การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด ดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก ป.4-6 ได้จำนวน 1,919,951 คน คิดเป็นร้อยละ 100.12 จากเป้าหมาย และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในสถานศึกษาจำนวน 10,811 แห่ง
แผนงานที่ 4 การปราบปรามยาเสพติด จับกุมคดียาเสพติดได้ 347,028 คดี ผู้ต้องหา 365,918 คน ได้ของกลางยาบ้า 96,155,912 เม็ด เฮโรอีน 497.30 กิโลกรัม ไอซ์ 1,073.60 กิโลกรัม กัญชา 28,104.54 กิโลกรัม
แผนงานที่ 5 ความร่วมมือระหว่างประเทศ พัฒนากลไกความร่วมมือพื้นที่ชายแดน จำนวน 20 แห่ง ใน 14 จังหวัด มีการลาดตระเวนสกัดกั้น จำนวน 288 ครั้ง และตั้งด่านสกัด 470 ครั้ง จับกุมได้ 29 ครั้ง ผู้ต้องหา 29 คน
แผนงานที่ 6 การสกัดกั้นยาเสพติด การจับกุมการลักลอบนำเข้ายาเสพติดจากนอกประเทศ กำหนดเป้าหมายการจับกุมยาเสพติดให้ได้ร้อยละ 50 ของการจับกุมทั่วประเทศ สรุปได้ดังนี้
- ยาบ้าจับกุมได้ 65,241,480 เม็ด คิดเป็นร้อยละ 67.85 ของการจับกุมภาพรวม
- ไอซ์จับกุมได้ 509.98 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 47.56 ของการจับกุมภาพรวม
- เฮโรอีนจับกุมได้ 474.86 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 95.49 ของการจับกุมภาพรวม
- กัญชาจับกุมได้ 15,538.59 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 55.29 ของการจับกุมภาพรวม
แผนงานที่ 7 การบริหารจัดการแบบบูรณาการ มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 7,750,741,564 บาท คิดเป็นร้อยละ 74.73 ส่วนการพัฒนากฎหมาย ได้การดำเนินการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมในขณะนี้จำนวน 11 ฉบับ
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมว่า “หนึ่งในเรื่องที่สำคัญของการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ครั้งนี้ คือการพิจารณาเห็นชอบเรื่องแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นแผนแม่บทระยะ 5 ปี พ.ศ. 2558 – 2562 ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์หลัก ที่มุ่งเสริมสร้างพลังแผ่นดินทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด และมุ่งส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือกับอาเซียนในการควบคุมและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยในปีแรกของแผนยุทธศาสตร์ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2558 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อลดปริมาณคนหรือผู้ที่จะเข้าสู่วงจรการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้น้อยที่สุด และนำคนออกจากวงจรการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่เรียกว่า “แรงงานยาเสพติด” ให้ได้มากที่สุด โดยดำเนินการกับปัญหาให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสังคมและประชาชน และมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อความร่วมมือเชิงรุกภายนอกประเทศเพื่อยุติการผลิตยาเสพติด การป้องกันเชิงรุกต่อกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหายาเสพติด การสร้างมาตรฐานการบำบัดรักษา การติดตามช่วยเหลือป้องกันการเสพซ้ำ การสกัดกั้นยาเสพติดแบบบูรณาการ การทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้า การตัดวงจรทางการเงิน ปราบปรามเครือข่ายนักค้าและการแพร่ระบาดในเรือนจำ”
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปิดท้ายว่า “วันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ให้มีความรวดเร็ว คล่องตัว เพื่อให้การดำเนินการปราบปรามจับกุมและบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเห็นชอบกับแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) หน่วยงานต้องไปดำเนินการในลักษณะงบบูรณาการ และให้ทดลองใช้ในพื้นที่10 จังหวัด แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2558 รวมถึง เรื่องอำนาจการพิจารณาแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จากเดิมที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง ที่ประชุมให้ความเห็นชอบเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด”