​ป.ป.ส. ร่วมกับ UNODC เปิดตัวรายงานสถานการณ์ยาเสพติดโลก 2014​

เมื่อวันที่ : 26 มิ.ย. 2557 00:00
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
7 ครั้ง
วันที่ 26 มิถุนายน 2557 เวลา 15.00 น. สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเปิดตัวรายงานสถานการณ์ยาเสพติดโลก หรือ World Drug Report ประจำปี 2014 ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวรายงานพร้อมกันทั่วโลก โดยรายงานดังกล่าวเป็นการประมวลแนวโน้มสถานการณ์การปลูก การผลิต เส้นทางการลักลอบ การใช้ยาเสพติดที่ผิด และข้อมูลสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยจะมีการเปิดตัวรายงานดังกล่าว โดยมีนางสาวรัชนีกร สรสิริ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานกล่าวเปิด ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส.
  ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติเมื่อเดือนธันวาคม 2530 กำหนดให้วันที่26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งในวันดังกล่าว สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ทั้งสำนักงานใหญ่ และสำนักงานประจำภูมิภาคต่างๆ รวมถึงประเทศภาคีทุกประเทศจะจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเป็นการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด และหนึ่งในนั้นคือการเปิดตัวรายงานสถานการณ์ยาเสพติดโลก หรือ World Drug Report พร้อมกันทั่วโลก เพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความจำเป็นในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติดที่ทาง UNODC ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในปีนี้ UNODCได้รณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักทั่วโลก ภายใต้คำขวัญ “A message of hope: Drug use disorders are preventable and treatable” (สารแห่งความหวัง: ปัญหาอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติดสามารถป้องกันและรักษาได้) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำให้สังคมพึงระลึกเสมอว่าการติดยาเสพติดป้องกันและรักษาได้ และที่ใดมีความช่วยเหลือ ที่นั่นย่อมมีความหวัง รวมถึงเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านการบำบัดรักษา และการป้องกันไวรัส HIV ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด โดยควบคู่กับหลักสิทธิมนุษยชน
โดยรายงานสถานการณ์ยาเสพติดโลกของ UNODC ในปีนี้ ได้มีการเรียกร้องให้เพิ่มความสนใจในสุขภาพและสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีดเข้าเส้น และยังระบุว่า การแพร่ระบาดของการใช้ยาเสพติดในภาพรวมทั่วโลกอยู่ในระดับคงที่ อย่างไรก็ตามในบางภูมิภาคมีอัตราการผลิตและการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตฝิ่นในประเทศอัฟกานิสถานและสามเหลี่ยมทองคำ การขยายตัวของการผลิตเมทแอมเฟตามีนในอเมริกาเหนือ และการใช้เมทแอมเฟตามีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
UNODC มีแนวคิดว่าการที่จะควบคุมยาเสพติดให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยข้อตกลงความร่วมมือระดับสากล และควรให้ความสำคัญกับการป้องกัน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการบูรณาการทางสังคม โดย Mr.Yury Fedotov ผู้อำนวยการบริหาร UNODC ได้กล่าวว่า “เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกเรากำลังก้าวสู่การนำปัญหายาเสพติดโลกเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยพิเศษ (Special Session of the General Assembly) ในปี พ.ศ. 2559”
จากรายงาน พบว่าสถิติการผลิตโคเคนและการใช้กัญชาในภาพรวมลดลง ในขณะที่เฮโรอีนยังคงเป็นปัญหาหลักในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลังจากที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2551 และ 2554 ระดับการจับกุมเฮโรอีนในปี 2555-2556 ก็แสดงแนวโน้มคงที่ ในยุคโลกาภิวัตน์ การค้าเคมีภัณฑ์และการนำสารเคมีถูกกฎหมายเบี่ยงเบนไปใช้อย่างผิดกฎหมายทำได้สะดวกมากขึ้น การควบคุมสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง มีสารตั้งต้นเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่ถูกจับได้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ยังคงเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของซูโดอีเฟดรีนและอีเฟดรีนที่ใช้ในการผลิตเมทแอมเฟตามีน ซึ่ง Mr. Jeremy Douglas ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ได้ให้ความเห็นว่า “ประเทศในภูมิภาคและนานาชาติจำเป็นต้องเพิ่มระดับความร่วมมือและความช่วยเหลือทางวิชาการในการควบคุมสารตั้งต้นเป็นอย่างมาก”
ในรายงานยังระบุว่า บรรดาอาชญากรได้หันไปใช้กลยุทธ์ใหม่ ๆ เช่น การตั้งบริษัทบังหน้า และเบี่ยงเบนสารตั้งต้นภายในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมระหว่างประเทศ โดยมีสารที่ใช้ในการ
ผลิตสารตั้งต้น (pre-precursor) ที่ยังไม่ถูกควบคุมชนิดใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาแทนที่สารตั้งต้นที่ถูกควบคุมซึ่งใช้ในการผลิตยาเสพติดสังเคราะห์ เช่น เมทแอมเฟตามีน เป็นต้น
นางสาวรัชนีกร สรสิริ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การเปิดตัวรายงานสถานการณ์ยาเสพติดโลก หรือ World Drug Report ของ UNODC ครั้งนี้เป็นเอกสารเผยแพร่ข้อมูลประจำปีที่เป็นการประมวลสถานการณ์ยาเสพติดโลกในภาพรวม ซึ่งจะมีการเปิดตัวพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ที่ได้กำหนดเป็นวันต่อต้านยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ขอขอบคุณ UNODC ที่ได้จัดทำรายงานนี้ขึ้นมาซึ่งรายงานนี้จะเป็นประโยชน์มากต่อรัฐบาลไทย เพื่อนำไปใช้พิจารณากำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในรูปแบบต่างๆ ต่อไป

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ