ป.ป.ส. จัดประชุมเครือข่ายข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน (ASEAN Drug Monitoring Network Meeting: ADMN) ครั้งที่ 19

เมื่อวันที่ : 16 ก.ค. 2568 14:45
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
14 ครั้ง

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม 2568 พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเครือข่ายข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน (ASEAN Drug Monitoring Network Meeting: ADMN) ครั้งที่ 19 และได้มอบหมายให้นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องแซฟไฟร์ ชั้น 2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค การประชุมฯ ประกอบไปด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และคณะผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุมฯ

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาค ในห้วง 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2568 (มกราคม - มิถุนายน 2568) และให้ประเทศสมาชิกฯ พิจารณาร่างรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอาเซียน ประจำปี 2567 ร่วมกัน

ในห้วงพิธีเปิดการประชุมฯ พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ ได้กล่าวต้อนรับผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมทั้งแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของทั้งศูนย์ความร่วมมือด้านยาเสพติดอาเซียน (ASEAN-NACRO) และเครือข่ายข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน (ADMN) โดยกล่าวชื่นชมความทุ่มเทและบทบาทสำคัญของเครือข่ายในการดำเนินงานตลอดทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงกล่าวถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งช่วยให้ทุกประเทศสามารถกำหนดนโยบายเพื่อรับมือปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ปัญหายาเสพติดในปัจจุบันไม่มีพรมแดน และยังคงทวีความรุนแรง โดยเฉพาะยาเสพติดสังเคราะห์จากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำซึ่งพบว่าปริมาณการลักลอบและการตรวจยึดยาเสพติดในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงปัญหายาบ้าซึ่งยังคงเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากไอซ์ โดยมีส่วนผสมของคาเฟอีนสูงถึงร้อยละ 80 ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพจิตของผู้เสพ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และดำเนิน “ปฏิบัติการ Seal-Stop-Safe” เพื่อสกัดยาเสพติดจากชายแดน ทำลายเครือข่ายลักลอบ และบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ นอกจากนี้ไทยยังยกระดับประเด็นปัญหายาบ้าเป็นวาระร่วมของนานาชาติในที่ประชุมคณะกรรมมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (CND) พร้อมทั้งเรียกร้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และผลักดันข้อมติว่าด้วยการวิจัยแนวทางการรักษาผู้ใช้สารกระตุ้น ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกสูงสุด ในการดำเนินการ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการดำเนินการ รวมถึงจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติสารเสพติดนานาชาติในเรื่องดังกล่าวในห้วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2568 ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะสามารถเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและนานาประเทศอย่างมาก

ในที่ประชุมฯ แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนได้นำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดในรอบ 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอาเซียนฉบับปีต่อไป นอกจากนี้ รศ.ดร.มานพ คณะโต ที่ปรึกษาคณะทำงาน ADMN ได้นำเสนอร่างรายงาน ADM Report 2024 ได้แก่ภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดในอาเซียน แนวโน้มสำคัญและภาพใหญ่ของปัญหายาเสพติดในภูมิภาค โดยประเด็นที่สำคัญ คือ แม้จำนวนคดีและผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมในภาพรวม จะลดลงตั้งแต่ปี 2019 แต่ปริมาณยาเสพติดที่ยึดได้กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาลถึง 239 ตันในปี 2024 เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2017 ที่มีการยึดได้เพียง 49.7 ตัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเครือข่ายยาเสพติดสามารถลำเลียงยาเสพติดในปริมาณที่สูงขึ้นต่อครั้ง และการปราบปรามอาจกระทบต่อผู้ค้ารายย่อย แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการผลิตและการค้าล็อตใหญ่ได้ ในปี 2024 อัตราผู้เข้ารับการบำบัดอยู่ที่ 103.7 คนต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.9% ซึ่งเป็นภาระที่หนักขึ้นของระบบสาธารณสุขในภูมิภาค โดยมี ATS (ยาบ้า/ไอซ์): เป็นยาเสพติดหลักที่มีผู้เข้ารับการบำบัดมากที่สุด (59%) ในส่วนฝิ่น/เฮโรอีน ยังคงเป็นปัญหารุนแรง มีผู้เข้ารับการบำบัดเป็นอันดับสอง (23%) และกัญชา มีผู้เข้ารับการบำบัดในสัดส่วนที่น้อยกว่า (3%) ในส่วนของสถานการณ์รายประเภทยาเสพติด ปัญหา ATS (ยาบ้าและไอซ์) เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและวิกฤติที่สุด ฝิ่น/เฮโรอีน ยังคงเป็นปัญหาดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ รวมถึงปัญหา NPS เป็นปัญหาที่มีความท้าทายโดยเฉพาะกระท่อม และเคตามีน ในส่วนของการจับกุม กระท่อมถูกจับกุมในปริมาณมากที่สุด (93.2% ของ NPS) ตามมาด้วยเคตามีน (5.6%) ความแตกต่างของกฎหมายในแต่ละประเทศเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้การลักลอบค้ากระท่อมยังคงอยู่ โดยประเทศสมาชิกได้รับทราบ และจะส่งข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรายงานฯ เพื่อดำเนินการแก้ไขก่อนจะเปิดตัวเล่มรายงานอย่างเป็นทางการในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านยาเสพติด (ASEAN Senior Officials on Drug Matters : ASOD) ครั้งที่ 46 ซึ่งประเทศสิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดในปีห้วงครึ่งปีแรกของปี 2569

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมออนไลน์ (Online Training) ให้แก่ประเทศสมาชิกว่าด้วยการใช้งานระบบ ADMN Report System และเสนอปรับกรอบเวลาการส่งข้อมูลสำหรับจัดทำรายงาน ADM Report ประจำปี เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานให้เสร็จทันเปิดตัวในการประชุม ASOD ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศสมาชิกได้แสดงความขอบคุณสำหรับการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมออนไลน์ พร้อมทั้งเห็นชอบและยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว นอกจากนี้ที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมประเทศสิงคโปร์ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ADMN ครั้งที่ 20 ในปี 2569

ในห้วงท้าย นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณผู้แทนจากทุกประเทศที่มีส่วนร่วมในการประชุมและเน้นย้ำถึงความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับกลไกความร่วมมือด้านข้อมูลยาเสพติดของภูมิภาคอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ในวันพรุ่งนี้ คณะผู้เข้าร่วมการประชุมฯ มีกำหนดเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ กองกำกับการสุนัขตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เพื่อรับฟังบทบาทและภารกิจของหน่วยงาน พร้อมรับชม การสาธิตการปฏิบัติหน้าที่ของสุนัขตำรวจ (K9) ในภารกิจต่าง ๆ อาทิ การตรวจค้นวัตถุระเบิด การตรวจค้นยาเสพติด และการติดตามจับกุมผู้กระทำผิด นอกจากนี้ ได้เข้าไปที่ สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด (สวพ.) สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อรับฟังบทบาทและภารกิจของ สวพ. รวมถึงการใช้งานชุดตรวจยาเสพติด การตรวจรับยาเสพติดของกลาง และเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติและปัญหายาเสพติดในประเทศไทย

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ