ผอ.ส่วนประสานพื้นที่ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด

เมื่อวันที่ : 10 เม.ย. 2568 10:23
หน่วยงาน : สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 1
94 ครั้ง

    วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2568 นายทิพเมษฐ์ สังขวรรณะ ผอ.ปปส.ภ.1 มอบหมายให้นางสมพิศ แสงบุญเกิด ผอ.ปพ. และคณะ  ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีนายแพทย์ธนา พุทธากรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าช้าง ดร.เฉลิมศรี ราชนาจันทร์ หัวหน้าศูนย์มินิธัญญารักษ์ และคณะ ให้การต้อนรับ ณ มินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลท่าช้าง ตำบลโพประจักษ์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี
     โดยดร.เฉลิมศรี หัวหน้าศูนย์มินิธัญญารักษ์  แจงขั้นตอนการรักษาการผู้ป่วยจิตเวช จากการใช้ยาเสพติด โดยมินิธัญญารักษ์ ท่าช้าง รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 8 เตียง แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด จำนวน 17 รายเป็นผู้ป่วยชายทั้งหมด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วย 24 ชม. และจะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาคอยดูแล เยี่ยมเยียนในทุกๆวันด้วย กระบวนการส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่มีอาการร้ายแรง ก็จะส่งตัวผู้ป่วยให้ รพ.สิงห์บุรี และรพ.สิงห์บุรี ดำเนินการส่งต่อให้ โรงพยาบาลธัญญรักษ์  หรือรพ.ศรีธัญญา 
กรณีที่มีการแจ้งเหตุ ผู้ที่มีอาการคุ้มคั่ง ก็จะมีจนท.ตร./ศูนย์ดำรงธรรม/กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เข้าช่วยระงับเหตุ และมีแพทย์ไปทำการฉีดยา
การส่งตัวผู้เข้ารับการบำบัดกลับสู่ชุมชน ก็ต้องสร้างความเข้าใจกับครอบครัวและวิธีการดูแลผู้ป่วย ซึ่งก็จะมีกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน คอยเฝ้าระวังติดตาม และในบางรายก็จะมีผู้นำชุมชน นำยาไปให้กิน/ฉีดยา ที่บ้าน หรือรับตัวผู้ป่วยมาฉีดยาที่มินิธัญญารักษ์
      ในส่วนของปัญหาของการบำบัด โดยเมื่อบำบัดครบโปรแกรมแล้วก็จะส่งกลับไปยังบ้านและชุมชน ซึ่งคนในครอบครัวอาจจะไม่เข้าใจถึงการดูแลและไม่ใส่ใจ ผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการอีกแล้วก็ต้องส่งกลับมาเข้ารับการบำบัดที่มินิธัญญารักษ์ วนเวียนเข้า-ออก แต่บางรายครอบครัวและญาติดูแลใส่ใจ ก็จะค่อยๆหายและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งก็จะไม่เป็นภาระของคนในครอบครัว
ในส่วนของปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือจำนวนเตียงที่รองรับไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยที่เข้ามารักษา การแก้ปัญหาก็จะดูความรุนแรงของผู้ป่วย รายไหนรุนแรงกว่า ก็ต้องนำมาเข้ารักษา ส่วนรายใดที่รักษาอยู่ สามารถกลับบ้านได้ก็จะให้ไปรักษาตัวที่บ้าน สับเปลี่ยนหมุนเวียนเตียงเพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย
       โดยผู้แทน ปปส.ภ.1 ก็ได้ชี้แจงในเรื่องของการสร้างความเข้าใจให้กับครอบครัว ชุมชน ของผู้ป่วยรวมทั้งวิธีการดูแลหลังจากที่ผ่านการบำบัดรักษาและต้องกลับคืนสู่ชุมชน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนในครอบครัว ชุมชน ต้องให้การต้อนรับและดูแล เพราะเค้าเป็นบุตรหลานของท่าน จะปล่อยปละละเลย และให้หน่วยงานภาครัฐ ดูแลอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องร่วมช่วยกันทุกฝ่ายและครอบครัวก็ต้องเป็นหลัก และในส่วนของเรื่องสถานที่ และเตียงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ก็ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ในเรื่องการปรับปรุง ซ่อมแซม และขยายพื้นที่เพื่อรองรับกับจำนวนผู้ป่วย และในเรื่องการป้องกันปัญหายาเสพติด ในหมู่บ้านชุมชน ก็ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นหลักในการขอรับการสนับสนุนงบเงินอุดหนุนในการทำโครงการ กิจกรรม เฝ้าระวัง ป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน ทั้งการแจ้งข่าวสาร การเดินเวรยามตรวจตราเฝ้าระวัง การสำรวจแหล่งมั่วสุมพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเสพและค้ายาเสพติดในพื้นที่

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ