บิ๊กหลวง นำคณะผู้แทนไทย ชูปัญหายาบ้าสู่การประชุมระดับโลก เรียกร้องนานาชาติเร่งแก้ปัญหายาบ้าสามเหลี่ยมทองคำ

เมื่อวันที่ : 11 มี.ค. 2568 13:56
หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
61 ครั้ง

วันที่ 10 มีนาคม 2568 พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม CND สมัยที่ 68 วันแรก ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเวียนนา กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ชูปัญหายาบ้าสู่นานาชาติ ชงเร่งแก้ปัญหายาบ้าในไทยและสามเหลี่ยมทองคำ พร้อมเรียกร้องส่งเสริมการวิจัยยารักษาการใช้ยาเสพติด

​พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นำคณะผู้แทนไทยจาก สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคี รวมจำนวน 13 หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs : CND) สมัยที่ 68 ซึ่งมีนาย Shambhu S. Kumaran เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรอินเดียประจำองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา เป็นประธานการประชุมฯ โดยในวันแรก เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ สะท้อนถึงปัญหายาบ้าที่เป็นปัญหายาเสพติดหลักของประเทศไทย พร้อมเน้นย้ำถึงนโยบายการแก้ไขปัญหายาบ้าของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ดำเนินการผ่านการประสานงานประเทศเพื่อนบ้านในการทำลายแหล่งผลิต การปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดตามแนวชายแดน โดยล่าสุดได้ออกปฏิบัติการ Seal Stop Safe รวมถึงการยึดทรัพย์ตัดวงจรนักค้ารายสำคัญ

​จากนั้น เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้นำผู้แทนประเทศจีน อินเดีย ออสเตรเลีย และสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (United Nations Office on Drugs and Crimes, Southeast Asia and the Pacific) ร่วมกิจกรรมคู่ขนานในการประชุม CND สมัยที่ 68 ที่จัดขึ้นโดยประเทศไทยในหัวข้อ “Addressing the Methamphetamine Crisis in the Mekong and Beyond” ซึ่งนำเสนอประเด็นความท้าทายจากวิกฤตปัญหาเมทแอมเฟตามีน โดยเฉพาะยาบ้าที่ลักลอบผลิตจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำผ่านมุมมองของประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกภูมิภาค  พร้อมสะท้อนความพยายามของไทยในการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดยและการริเริ่มการศึกษาวิจัยตัวยารักษายาบ้า โดยร่วมมือกับนักวิชาการจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังได้เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการของประเทศไทยภายใต้หัวข้อ “Methamphetamine Crisis in the Greater Mekong Sub-region” ที่ร่วมมือกับ UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก โดยได้รับการสนับสนุนจาก 6 ประเทศ สมาชิกบันทึกความเข้าใจลุ่มแม่น้ำโขง จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม นำเสนอวิกฤตปัญหาเมทแมเฟตามีน ผ่านการแสดงภาพการจับยึดยาบ้าและไอซ์ล็อตใหญ่ในประเทศแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงลักษณะทางกายภาพและทางเคมีของยาบ้า และผลกระทบต่อร่างกายและสังคมจากการแพร่ระบาดของยาบ้า เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์และความรุนแรงของยาบ้าในระดับสากล พร้อมกันนี้ ได้เรียกร้องให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหายาบ้าและเมทแอมเฟตามีน ในฐานะปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

​เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “ยาบ้าเป็นปัญหายาเสพติดหลักของประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยถูกใช้เป็นทางผ่านของการลักลอบลำเลียงไอซ์และเฮโรอีนไปยังประเทศที่สาม ซึ่งในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถจับยึดยาบ้าได้มากกว่า 1,000 ล้านเม็ด ไอซ์กว่า 34 ตัน และเฮโรอีนกว่า 2 ตัน ผลการจับยึดยาเสพติดสังเคราะห์ โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในแต่ละปี ประกอบกับราคายาเสพติดที่ลดต่ำลง ประเทศไทยในฐานะประเทศด่านหน้าในการจัดการยาเสพติดสังเคราะห์จากสามเหลี่ยมทองคำจึงเรียกร้องการประสานงานการสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งในเชิงการปฏิบัติการ การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร และองค์ความรู้รวมถึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของความพยามยามร่วมกันในทุกระดับในการติดตามและป้องกันการรั่วไหลของสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้าสู่แหล่งผลิต ตลอดจนความร่วมมือในการปราบปรามเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและการตัดเส้นทางการเงินผิดกฎหมาย”
​ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาบ้าให้ครอบคลุมทุกมิติ ประเทศไทยยังได้เสนอร่างข้อมติในการประชุม CND สมัยที่ 68 ในประเด็น การส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการบำบัดรักษาการใช้สารกระตุ้น (Promoting research on evidence-based interventions for the treatment and care of stimulant use disorders) โดยเรียกร้องให้นานาชาติส่งเสริมการศึกษาวิจัย สนับสนุนให้มีการบำบัดรักษาการรักษาที่เน้นนวัตกรรมใหม่ พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการวิจัย การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และการแบ่งปันข้อมูลการเสริมสร้างระบบการดูแลสุขภาพเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากการใช้สารกระตุ้น

​สำหรับการประชุม CND สมัยที่ 68 จะจัดขึ้นจนถึงวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างข้อมติของประเทศไทย รวมถึงการลงมติเพิ่มรายการสารที่อยู่ภายใต้การควบคุมระหว่างประเทศต่อไป

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ