ความเปลี่ยนแปลงทาง กม. และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เกิดขึ้นกับพืชชนิดหนึ่ง : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

เมื่อวันที่ : 21 พ.ย. 2016 17:37
หน่วยงาน : สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด
55 ครั้ง

กฎหมายเกี่ยวกับกัญชาในต่างประเทศกำลังมีความเปลี่ยนแปลง ที่คนทั่วไปจับต้นชนปลายไม่ถูก ในหลายประเทศปรับปรุงกฎหมายในแนวลดทอนความผิดทางอาญา บางประเทศลดทอนโทษทางอาญา บางประเทศมีกระบวนการประหลาดเกิดขึ้นทั้งในทางกฎหมายและการบำบัดรักษา อีกทั้งยังมีการวิจัยค้นพบคุณสมบัติทางเภสัชศาสตร์ของพืชชนิดนี้อีกกว้างขวาง เราจะไม่ประเมินค่าว่าดีหรือไม่ แค่เพียงรู้ไว้เป็นความรู้ก็พอ

ประเทศในแถบตะวันตก ได้แก่ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี โปรตุเกส รวมถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกา มีนโยบายที่ผ่อนปรน ลดทอนความผิดคดียาเสพติด (Decriminalization) ลดทอนบทลงโทษ เช่น การครอบครองและเสพกัญชาเฉพาะตัวในปริมาณเล็กน้อย อาจเพียงแค่ตักเตือน ให้ทำงานบริการสังคม หรือปรับ จึงเป็นวิธีการที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการห้ามอย่างเด็ดขาด กับการทำให้การเสพยาเสพติดถูกต้องตามกฎหมาย ในประเทศสหรัฐอเมริกา นโยบายระดับรัฐบาลกลางยังค่อนข้างมีความเข้มข้น แต่ในระดับมลรัฐ ซึ่งเคยเน้นการปราบปรามทั้งผู้ขายและผู้เสพอย่างหนัก กลับเริ่มทยอยใช้นโยบายลดทอนความผิดคดียาเสพติด (Decriminalization) มากขึ้น

ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร? (หรือเขารู้อะไรใหม่?)

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ โปรตุเกส ในโปรตุเกส มีคณะกรรมการยับยั้งการติดยา ประกอบด้วยกรรมการหลายสาขาอันได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และนักสังคมวิทยา คณะกรรมการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ใช่กระทรวงยุติธรรม เพราะคิดว่าการใช้ยาเสพติดเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่ง (เฉพาะผู้เสพ) ไม่ใช่อาชญากรรมและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจิตจะเป็นผู้ที่แก้ปัญหานี้ ซึ่งตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษาจะไม่มีบทบาทใดๆ ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ในระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าจำนวนผู้ติดยาลดลง มีการใช้โปรแกรมแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยา (อาจจะแปลกเกินไปสำหรับสังคมไทย) การบัญญัติกฎหมายให้แพทย์สามารถออกใบสั่งให้ใช้กัญชารักษาการติดยาได้อีกด้วย

ในประเทศฝรั่งเศส มีนโยบายลดทอนความผิดที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาลง หากเป็นการใช้ส่วนตัว โดยใช้การลงโทษน้อยแต่เพิ่มการบำบัด

ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การปลูกกัญชาไม่เกิน 4 ต้น และใช้กัญชาส่วนบุคคลไม่เป็นความผิดอาญา แต่ยังห้ามการปลูก การผลิตเพื่อการค้า การกระทำความผิดลหุโทษในคดียาเสพติดนั้นเจ้าหน้าที่อาจงดการลงโทษได้ โดยใช้การตักเตือนแทน

ประเทศเยอรมนี ในคดียาเสพติดที่ไม่ร้ายแรง ศาลอาจยุติกระบวนการได้โดยพิจารณาความยินยอมของอัยการและผู้กระทำความผิด และการมีกัญชาต่ำกว่า 10 กรัม ไว้ในครอบครองไม่ต้องถูกดำเนินคดี

ประเทศอังกฤษ มีการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของคดียาเสพติดของกัญชา หากเป็นการใช้ส่วนตัว ในอังกฤษใช้หนังสือเตือนหรือปรับเป็นเงิน ส่วนในสกอตแลนด์ใช้การตักเตือนและยอมความ (ยุติคดี) โดยไม่ต้องขึ้นศาล การยอมความในที่นี้คือ การชำระเงินให้แก่รัฐแทนการฟ้องร้องเป็นคดี สำหรับกัญชาปริมาณน้อย (10 กรัม หรือน้อยกว่านั้น) หรือเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ ที่จะไม่ดำเนินคดีต่อไป ทางเลือกสุดท้ายนี้จะไม่ปรากฏในสถิติอาชญากรรม เป็นอำนาจดุลพินิจค่อนข้างมาก

ประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายในระดับรัฐบาลกลางกับระดับมลรัฐมีความแตกต่างกันเพราะแต่ละมลรัฐมีกฎหมายแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วหลายมลรัฐ ตั้งแต่ ค.ศ.1970 เป็นต้นมา เริ่มนโยบายผ่อนคลายความเป็นอาชญากรรมลง (decriminalization) กรณีมีกัญชา มลรัฐส่วนใหญ่จะดำเนินการในแง่ของการผ่อนปรน การใช้กัญชา สำหรับบางมลรัฐ สามารถกระทำได้เพื่อการบำบัดรักษา ในบางรัฐยังอนุญาตสำหรับการปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 6 ต้น เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว

กฎหมายในประเทศต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ เพราะอะไร

อาจจะเป็นเพราะกฎหมายมองว่าผู้เสพพืชชนิดนี้เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยอันตรายต่อสังคม (จริงหรือ? หรือเป็นความคิดเฉพาะฝั่งตะวันตก?) แต่ก็ยังต้องให้เขาไปบำบัดให้หาย ปล่อยไว้ไม่ได้ (เพราะสังคมก็ไม่ไว้วางใจบุคคลเหล่านี้) และอาจจะมีเหตุผลอื่นๆ ที่นักกฎหมายเองก็อาจจะไม่ได้มอง เช่น คดีรกโรงรกศาล ค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดำเนินคดีที่สูง ฯลฯ ถึงมองก็กล่าวมากนักก็ไม่ได้ เพราะเหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมาย

เหตุผลทางกฎหมายนั้น มีแต่ประเด็นเรื่อง ออกกฎหมายในลักษณะนี้ยุติธรรมหรือไม่ หรือคุ้มครองปัจเจกชนและสังคมได้หรือไม่ เหตุผลทางกฎหมายไม่คิดเรื่องมูลค่าหรือราคา เพราะถ้าจะทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นได้บ้าง เสียเท่าไรก็ต้องเสีย

อย่างไรก็ตาม บังเอิญในทางการแพทย์ก็วิจัยจนพบอะไรบางอย่างในพืชชนิดนี้

มีเหตุผลหลายประการในปัจจุบันที่สนับสนุนและให้น้ำหนักต่อสารบางอย่างในกัญชาว่ามีคุณสมบัติทางเภสัช เพราะพบว่าสารบางอย่างในพืชชนิดนี้กระตุ้นให้เจริญอาหาร ทางการแพทย์จึงเลือกใช้สารบางอย่างในกัญชามาใช้กับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องให้รับประทานอาหารได้ดียิ่งขึ้น สารเคมีบางอย่างที่สกัดได้ยังใช้เป็นยาลดความดันในนัยน์ตาของคนเป็นต้อหิน สารบางอย่างลดการอักเสบของสมองและไขสันหลัง สรุปว่าในพืชชนิดนี้มีสารหลายอย่างที่มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา แต่ในฐานะสารเคมีที่ต้องสกัดออกมาเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด

มีงานวิจัยเร็วๆ นี้พบว่าสารบางอย่างในกัญชาที่เรียกว่า THC ยับยั้งอัลไซเมอร์ และกลุ่มสารเคมีในกัญชามีสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็ง นำมาใช้ควบคู่กับการฉายแสงได้ทำให้คนไข้ตอบสนองกับการบำบัดด้วยการฉายรังสีได้ดีขึ้น สารบางอย่างในพืชชนิดนี้ต้องสกัดจากห้องแล็บ และดูเหมือนว่าพืชชนิดนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์นักจากการเผา (เผาแล้วสารบางอย่างใช้ไม่ได้ผลทางเภสัช) นั่นแสดงว่าคนทั่วๆ ไปไม่สามารถเข้าถึงสารเหล่านี้โดยการกินหรือเผาไฟ อีกประการหนึ่ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบสารเคมีเหล่านี้แล้วก็สามารถทำเลียนแบบ หรือสังเคราะห์ในห้องทดลองได้ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ โดยไม่ต้องอาศัยการสกัดจากพืชชนิดนี้อีกด้วย แต่ที่ยังไม่รู้คือในอนาคตจะค้นพบว่ามีสารอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติทางเภสัชอื่นแตกต่างออกไปอีกหรือไม่

ที่แน่ชัดแล้ว มิพักต้องสงสัยอีกเลย คือ สาร THC ตัวเดียวกับที่กล่าวมานี้คือสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คล้ายกับยากระตุ้นประสาท เมื่อรับเข้าไปมากๆ อาจมีความจำเลอะเลือน ตัวสั่น เสียสติและจิตพิการอย่างถาวร ในที่สุดสมองก็ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แม้จะดูไม่รุนแรงกว่ายาไอซ์ในช่วงแรกแต่ในระยะยาวรุนแรงกว่ามาก เพราะสิ่งที่รุนแรงที่สุดในชีวิตมนุษย์ คือการเสียสติ และความทรงจำ เหมือนสิ่งที่คนทั้งหลายกลัวกันนักว่า เมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะลงโทษใคร ก็จะทำให้คนนั้นบ้าก่อน แล้วเขาก็จะคิดบ้าๆ ทำบ้าๆ นำพาเขาไปจนถึงความร้ายแรงต่างๆ ที่จะตามมา

บางทีเมื่อศึกษาพืชชนิดนี้กันจริงๆ จังๆ แทนที่จะพบสารที่มีประโยชน์ ก็อาจจะพบสารที่มีโทษรุนแรงกว่านี้ก็ได้

ข้อสันนิษฐานนี้อาจเป็นไปได้เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับกาแฟŽ ซึ่งปัจจุบันพบว่ากาแฟมีสารประกอบเป็นร้อยชนิด มีสารบางอย่างที่มีประโยชน์ บางอย่างมีโทษ บางอย่างยังไม่รู้ สถานการณ์นี้ยังเป็นเช่นเดียวกับ รังนกนางแอ่นŽ ซึ่งมีสารอาหารอีกหลายอย่างที่ยังค้นไม่พบ แต่กินแล้วมีผลเหมือนยา แต่จากการกินกันมาในวัฒนธรรมตะวันออก ล่วงมาแล้วหลายพันปี รังนกในฐานะอาหารน่าจะมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ อย่างไรก็ตาม มีโทษที่แน่แท้แล้ว คือ การเบียดเบียนสัตว์

ความจริงความรู้เรื่องสมุนไพร ไม่มีใครรู้ดีกว่าคนเอเชีย คนเอเชียไม่เคยตามฝรั่งในเรื่องสมุนไพร มีความเป็นตัวของตัวเองมาตลอดหลายพันปี จวบจนยุคนี้ (ฝรั่งเริ่มรู้จักการกินชา กาแฟ กันเมื่อไม่นานนี้เอง-ไม่ถึงพันปี ในขณะที่คนเอเชียรู้จักชามาหลายพันปีแล้ว)

อีกประเด็น คือ เมื่อพบสารเคมีนั้นจากพืชแล้ว ก็สามารถสร้างสารเคมีนั้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้โครงสร้างทางเคมีที่เหมือนกันยังกับแกะ โดยไม่ต้องไปสกัดจากพืชชนิดนั้นอีกเลย อย่างนั้นก็ละทิ้งพืชชนิดนั้นไปเลยก็ได้ จะปลอดภัยแก่สังคมมากกว่า

และสิ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททำให้เกิดอุบัติเหตุในท้องถนน ทำให้เกิดความเสียหายมากมาย

ตื่นขึ้นมาเถิดผู้เชี่ยวชาญทางสมุนไพรทั้งหลาย ช่วยให้ความกระจ่างแก่สังคม เสียแต่เนิ่นๆ อย่าให้ช้าเกินไป!

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในประเทศต่างๆ ที่กล่าวมานั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับความรู้ในทางการแพทย์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเลยก็ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายอาจมีเหตุผลอื่นๆ สำหรับแต่ละประเทศแตกต่างออกไป ซึ่งเป็นเหตุผลของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องพวกนี้ หรือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเปิดเผยมากนัก อีกทั้งการแพทย์และการค้าผลิตภัณฑ์ยานั้นซับซ้อนใช่เล่นเสียเมื่อไหร่

 ที่มา http://www.matichon.co.th/news/334013​


 

YouTube Instagram TikTok X Threads search download
Q&A FAQ