ข่าว ป.ป.ส.
ป.ป.ส. นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติการยาเสพติด รณรงค์ให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา พร้อมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

​   22-8-58-or7 (1).jpg

      สำนักงาน ป.ป.ส. นำสื่อมวลชนศึกษาการดำเนินงานของค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาตรฐานใหม่ (ค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินจังหวัดเพชรบุรี) หวังให้สังคมเข้าใจ ผู้เสพคือผู้ป่วย รัฐบาลพร้อมช่วยเหลือส่งตัวบำบัด ฝึกอาชีพ จัดหาทุนเรียนทุนประกอบอาชีพให้หลังผ่านการบำบัด พร้อมย้ำค่ายศูนย์ขวัญฯ ให้โอกาสได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ และนำสื่อมวลชนศึกษากระบวนการสร้างพลังสังคมชุมชนเข้มแข็ง ด้วยกระบวนการชุมชนบำบัด ของหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน บ้านน้ำทรัพย์
     เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 นายสุนทร วินัยบดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 7, นายสิทธิศักดิ์ กัลยาณประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด และนายธนากร คัยนันท์ เลขานุการกรม สำนักงาน ป.ป.ส. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระบบสมัครใจรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาตรฐานใหม่ (ค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน) ณ วัดถ้ำแก้ว อ.เมือง จ.เพชรบุรี โดยมีพระครูสมุห์อำนวย ปภากโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำแก้ว เจ้าคณะตำบลโพธิ์ไร่หวาน จังหวัดเพชรบุรี, ดร.ไกร บุญบันดาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี, นพ.ประจักษ์ วัฒนกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี, พ.ต.อ.ภูวเดช ราญสระน้อย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี, นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ปลัดจังหวัดเพชรบุรี, นายสุทิน ประเสริฐศักดิ์ รองหัวหน้าสำนักงาน
       ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จังหวัดเพชรบุรี และดาบตำรวจสยาม ศรีทอง ตํารวจตระเวนชายแดน กองร้อย ตชด. ที่ 144 ให้การต้อนรับ ซึ่งค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินจังหวัดเพชรบุรีแห่งนี้ ได้นำเอาจุดเด่นของค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ ผู้เข้าบำบัดจะได้รับความช่วยเหลือในการเลิกยาเสพติดจากผู้เชี่ยวชาญ มีการอบรมทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านกาย จิตใจ สังคม และอาชีพ โดยจะฝึกความเข้มแข็งทั้งกายและใจ พร้อมทั้งปลูกฝังการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในสังคม สร้างความตระหนักให้ผู้เข้ารับการบำบัดรู้ถึงคุณค่าของตนเอง มีการฝึกอาชีพ และช่วยเหลือทางด้านเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพ
หรือการเรียน หลังจากเสร็จสิ้นการบำบัด เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ และไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ซึ่งในปีนี้ค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินจังหวัดเพชรบุรีแห่งนี้ได้อบรมผู้เข้ารับ
การบำบัดมาจนถึงรุ่นที่ 8 แล้ว บำบัดผู้ติดยาเสพติดไปแล้วมากกว่า 600 คน โดยมีผู้สมัครใจเข้ารับการสมัครเองถึง 117 คน ซึ่งถือว่าเป็นผลการดำเนินการที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
      นอกจากด้านการบำบัดฟื้นฟูแล้ว สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด ดังนั้นชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่เคยมีปัญหายาเสพติดอยู่ในระดับรุนแรง และชาวบ้านได้ร่วมใจกันแก้ปัญหายาเสพติด โดยมีผู้นำชุมชนอย่างนายชูชาติ วรรณขำ ผู้ใหญ่บ้าน/ประธานหมู่บ้านกองทุนแม่บ้านน้ำทรัพย์ เป็นกำลังหลักในการผลักดันกระบวนการ “ชุมชนบำบัด” คือหมู่บ้านดำเนินการเอง ตั้งคณะทำงานจัดการและรายงานให้อำเภอทราบ และได้ดำเนินการตามกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง 9 ขั้นตอนตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จนสามารถประกาศเป็นหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติด ในปี 2542 และรักษาสภาพให้เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติดมาถึงปัจจุบัน โดยในปี 2551 หมู่บ้านน้ำทรัพย์ยังได้รับพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน และได้มีการขยายผล ต่อยอด เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกด้วย สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนบ้านน้ำทรัพย์นั้น ทางชุมชนจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ และมีการประชุมเพื่อแจ้งให้ทราบถึงปัญหายาเสพติด และปัญหาต่างๆ ในชุมชนเป็นประจำทุกเดือน โดยสมาชิกในชุมชนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คอยสอดส่องดูแลปัญหายาเสพติด หากพบเห็นผู้ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดก็จะทำการตักเตือน แต่หากไม่เชื่อและยังคงลักลอบจำหน่ายอยู่ จะดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาดำเนินการต่อไป และหากมีสมาชิกในชุมชนที่หลงผิดไปเสพยาเสพติด สมาชิกคนอื่นๆ ก็จะพาไปบำบัด และคอยให้ความช่วยเหลือ ไม่รังเกียจ หรือแบ่งแยก ช่วยกันเป็นกำลังใจและแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ
   นายสุนทร วินัยบดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 7 กล่าวว่า “จุดประสงค์หลักของการลงพื้นที่ในครั้งนี้คือต้องการให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ตามนโยบายของพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ส. เร่งดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาล ที่ประกาศในคำสั่งของ คสช. ที่ 108/2557 ที่ต้องการให้ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูในระบบสมัครใจมากที่สุด เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว และไม่ใช่มาตรการลงโทษ แต่เป็นการช่วยเหลือ และพัฒนา ผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดเหล่านั้นให้กลับมามีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข มีความรู้ มีทักษะอาชีพ และสามารถเลิกจากยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาดโดยไม่ย้อนกลับไปเสพซ้ำอีก สำหรับผู้เสพผู้ติดยาเสพติด  ที่ต้องการเลิกหรือต้องการเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดในระบบสมัครใจ หรือผู้ปกครองคนใกล้ชิดที่ต้องการปรึกษาเรื่องการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ หรือเข้ามาปรึกษาได้ที่สำนักงาน ป.ป.ส. ส่วนกลาง และ ปปส.ภาค ทุกแห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นพร้อมให้การช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ ฝากถึงประชาชนทั่วไปให้มองผู้เสพเป็นเหมือนผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาโดยเร่งด่วนก่อนที่จะสายเกินไป และควรให้โอกาสผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ในส่วนของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนนั้น ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงลำพัง การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะสำเร็จได้ก็ด้วยพลัง ความร่วมแรงร่วมใจและความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนทุกคน

22-8-58-or7 (3).jpg 



โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความคิดเห็น
1. โปรดงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
2. ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้
3. ทีมงานเว็บมาสเตอร์ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
4. เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นเป็นไปตามกฎกติกาที่วางไว้ ทางผู้จัดการออนไลน์ได้ปรับปรุงระบบการกรองคำให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
กรุณารอสักครู่ ก่อนที่ความคิดเห็นของท่านจะถูกนำขึ้นแสดง
5. ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นสามารถร่วมตรวจสอบข้อความที่ไม่เหมาะสมได้ โดยการกดปุ่ม "แจ้งลบ" หรือส่งอีเมลแจ้งมาที่ webmaster@oncb.go.th
ซึ่งทีมงานจะทำการตรวจสอบ และลบข้อความดังกล่าวโดยเร็วที่สุด หรืออย่างช้าภายใน 3 วันทำการ
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม :
ชื่อ/e-mail ของคุณ :


 


ข่าวล่าสุด