ข่าวผู้บริหาร
เลขาธิการ ป.ป.ส. โคลอมเบีย น้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการปลูกพืชโคคาในโคลอมเบีย

24-8-60-sirinya100.jpg

  วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ Mr. Eduardo Diaz Uribe ผู้อำนวยการสำนักงานแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติดแห่งสาธารณรัฐโคลอมเบีย (ตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีช่วย) และ Ms. Claudia Paola Salcedo Vasquez ที่ปรึกษาสำนักงานแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติดแห่งสาธารณรัฐโคลอมเบีย โดยการนำของ มรว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ Mr. Stefan Helming ผู้จัดการประจำประเทศหน่วยงานความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GIZ) โดยมีนายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางสาวรัชนีกร สรสิริ ที่ปรึกษาสำนักงาน ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องรับรองเภา สารสิน สำนักงาน ป.ป.ส.
  คณะผู้แทนระดับสูงของโคลอมเบียเดินทางมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อร่วมศึกษาดูงานด้านการพัฒนาทางเลือก ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย และโครงการปลูกป่าสร้างคน รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 23 - 31 สิงหาคม 2560  โดยการศึกษาดูงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Global Partnership on Drug Policies and Development ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GIZ) ที่สนับสนุนการนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ปลูกพืชเสพติด สำหรับการศึกษาดูงานฯ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GIZ) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงาน ป.ป.ส. ที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ต้นแบบการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกที่ประสบผลสำเร็จของไทยที่สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ยกย่องให้เป็นโครงการระดับโลกและเป็นแบบอย่างที่ได้รับการยอมรับระดับสากลให้แก่ประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องการปลูกพืชเสพติด ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลโคลอมเบียประสบกับปัญหาการปลูกพืชโคคากว่า 150,000 เฮกแตร์ หรือประมาณ 900,000 ไร่ การแบ่งปันประสบการณ์การนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ปลูกพืชเสพติดให้กับประเทศโคลอมเบีย จึงเป็นประโยชน์และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากโคลอมเบียอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยสันติภาพเมื่อไม่นานมานี้ และมุ่งหวังที่จะให้เกิดการพัฒนาในประเทศอย่างยั่งยืน
  ภายหลังจากการหารือข้อราชการร่วมกัน Mr. Eduardo Diaz Uribe และคณะ ได้ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อรับทราบแนวทางการบริหารจัดการข้อมูลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ระบบการติดตาม การเฝ้าฟังสถานการณ์ และการควบคุมการปฏิบัติการที่ได้ดำเนินการตามข้อร้องเรียนของประชาชนทั่วประเทศ โดย Mr. Eduardo Diaz Uribe ได้กล่าวขอบคุณ สำนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้จัดการศึกษาดูงานในครั้งนี้ และได้แสดงความเห็นว่า “การแก้ไขปัญหาสำคัญจะต้องมีความมุ่งมั่น ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลโคลอมเบียก็จะพยายามให้ดีที่สุด สิ่งที่รัฐบาลโคลอมเบียได้ประจักษ์ คือ การยุติการปลูกพืชเสพติดนั้น สามารถทำได้จริงด้วยความร่วมมืออย่างสมัครใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และยกย่องให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างในเรื่องดังกล่าว ซึ่งภายหลังจากการศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน โดยความอนุเคราะห์จัดการศึกษาดูงานจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ แล้ว ก็จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ปลูกพืชเสพติดของโคลอมเบียต่อไป ทั้งนี้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลโคลอมเบียถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต”

24-8-60-sirinya101.jpg24-8-60-sirinya102.jpg 

24-8-60-sirinya103.jpg24-8-60-sirinya104.jpg 



โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความคิดเห็น
1. โปรดงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
2. ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้
3. ทีมงานเว็บมาสเตอร์ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
4. เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นเป็นไปตามกฎกติกาที่วางไว้ ทางผู้จัดการออนไลน์ได้ปรับปรุงระบบการกรองคำให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
กรุณารอสักครู่ ก่อนที่ความคิดเห็นของท่านจะถูกนำขึ้นแสดง
5. ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นสามารถร่วมตรวจสอบข้อความที่ไม่เหมาะสมได้ โดยการกดปุ่ม "แจ้งลบ" หรือส่งอีเมลแจ้งมาที่ webmaster@oncb.go.th
ซึ่งทีมงานจะทำการตรวจสอบ และลบข้อความดังกล่าวโดยเร็วที่สุด หรืออย่างช้าภายใน 3 วันทำการ
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม :
ชื่อ/e-mail ของคุณ :


 


ข่าวล่าสุด